โรคอ้วนคืออะไรและกลยุทธ์ในการลดน้ำหนัก

5 ก.ย. 2565 | เขียนโดย นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์

โรคอ้วน คืออะไร ?

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน โรคกรดไหลย้อน กระดูกสันหลังหรือกระดูกเข่าเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย และปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ พบว่า มีคนไทยมีโรคอ้วน มากกว่า 20.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก

เมื่อไรถึงบอกได้ว่าเป็นโรคอ้วน ?
วิธีการที่นิยม คือ ใช้การวัดจากค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index) กล่าวคือ ถ้าค่าดัชนีมวลกาย  > 25 ถือว่ามีภาวะอ้วน ดังตารางนี้

 

เกณฑ์ดัชนีมวลกาย [ ส่วนสูง (เมตร)/น้ำหนัก2 (กิโลกรัม) ]
น้อยกว่า 18 น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
18-22.9 สมส่วน
23-24.9 น้ำหนักเกิน
25-29.9 โรคอ้วน
มากกว่า 30 โรคอ้วนอันตราย

 


กลยุทธ์ในการลดน้ำหนักด้วยวิธีการต่างๆ

  1. การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายปัจจุบันจากข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า การควบคุมอาหาร เช่น Low carbohydrate, Intermittent fastingสามารถลดน้ำหนักได้ที่ประมาณ 3-8% ที่ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้นก็จะมีโอการน้ำหนักฟื้นคืนได้มาก เนื่องจากในช่วงที่ควบคุมอาหารร่างกายจะลดการเผาผลาญพลังงานลง เมื่อผู้ป่วยกลับมารับประทานอาหารแบบปกติจึงทำให้น้ำหนักกลับมาฟื้นคืนมากขึ้นกว่าเดิมได้
  2. การใช้ยาลดน้ำหนัก ปัจจุบันยาลดน้ำหนักที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา มีอยู่ 5 ตัว โดยตัวที่เป็นที่นิยมและใช้แพร่หลาย คือ Liraglutide ซึ่งเป็นยาฉีดบริเวณชั้นใต้ผิวหนัง มีผลทำให้รู้สึกอิ่ม สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ประมาณ 5-10% ที่ระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน โดยอาจจะมีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ได้
  3. การใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร การใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหารเป็นทางเลือกชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้การส่องกล้องทางปากนำบอลลูนเข้าไปไว้ในกระเพาะอาหารโดยบรรจุน้ำเกลือผสมสารสีฟ้าเข้าไปในบอลลูน 400-500 ซีซี ทำให้รู้สึกอิ่มตลอดเวลา สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ประมาณ 6-15% ที่ระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน โดยในบอลลูนรุ่นใหม่จะสามารถทำการปรับขนาดบอลลูนหลังใส่ได้จนถึงประมาณ 6 เดือน และเมื่อครบ 1 ปีต้องเปลี่ยนนำบอลลูนออก

 

  1. การผ่าตัดกระเพาะทางกล้องเพื่อลดน้ำหนัก การผ่าตัดกระเพาะทางกล้องเพื่อลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดเย็บกระเพาะเพื่อทำให้ผู้ป่วยทานอาหารได้น้อยลงร่วมกับลดการสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับความหิว นอกจากนี้จะช่วยในการทำงานของฮอร์โมนที่ดีบางตัวเพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ด้วย ปัจจุบันการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักเป็นวิธีเดียวที่สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 30-40% โดยที่มีการติดตามผลไปมากกว่า 10 ปี แผลจากการผ่าตัดเป็นแผลขนาดเล็ก 5-10 มิลลิเมตร ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วโยหลังผ่าตัดสามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วัน ส่วนความเสี่ยงจากการผ่าตัดปัจจุบันด้วยเทคนิคของศัลยแพทย์ที่ชำนาญ มีความเสี่ยงต่ำมากน้อยกว่า 1%

 

เปรียบเทียบการลดน้ำหนักทั้ง 4 วิธี
การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย การใช้ยาลดน้ำหนัก การใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก
ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม > 23 ขึ้นไป > 27 ขึ้นไป > 27 ขึ้นไป >32.5 ขึ้นไป
น้ำหนักที่ลดได้* 3-8% 5-10% 6-15% 30-40%
ผลของการลดน้ำหนักระยะสั้น ++ +++ ++++ ++++++++
ผลของการลดน้ำหนักระยะยาว + + ++ ++++++++
โอกาสหายจากโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน* +

 

 

++ +++ +++++
ข้อเสีย ต้องใช้ยาต่อเนื่องและมีโอกาสน้ำหนักฟื้นคืนได้หลังหยุดยา สามารถใส่บอลลูนได้สูงสุด 1 ปี และต้องระมัดระวังน้ำหนักฟื้นคืนหลังนำบอลลูนออก ความเสี่ยงจากการผ่าตัด***

 

* น้ำหนักที่ลดได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ตัวเลขที่นำมาอ้างอิงมาจากข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน

** โรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันสูง หยุดหายใจขณะนอนหลับ ไขมันในเส้นเลือดสูง เข่าเสื่อม

เส้นเลือดหัวใจ/สมองตีบตัน ไขมันพอกตับ เป็นต้น

*** ความเสี่ยงจากการผ่าตัด สามารถควบคุมได้โดยทีมสหสาขาวิชาชีพแพทย์ที่ชำนาญและเครื่องมือที่ทันสมัย

 

ความรู้จักกับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร คืออะไร ?

การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้ฮอร์โมนความหิวที่ถูกสร้างที่กระเพาะก็จะลดลงหลังผ่าตัดทำให้หลังผ่าตัดความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย จุดประสงค์ของผ่ารผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนและรักษาโรคร่วมที่มากับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น  ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยสุขภาพดี แข็งแรงและชีวิตได้อย่างปกติ

 

 

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร เหมาะกับใคร?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อม และะคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสมซึ่งมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

ผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล

ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 27.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถคุมได้

ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน

ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 37.5 kg/m2

ผู้ที่ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดและสามารถดูแลตัวเองได้หลังผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร ควรเตรียมตัวอย่างไร?

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจอื่นๆ ดังนี้

– การตรวจเลือดเบื้องต้นและตัวประเมินโรคประจำตัวเพื่อเตรียมความพร้อมทั่วไป

– การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อดูภาวะกรดไหลย้อน หรือสภาพทั่วไปของกระเพาะ

– การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับและถุงน้ำดี เพื่อดูภาวะไขมันเกาะตัวและถุงน้ำดีว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี

– การตรวจการนอนหลับ ทำในเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สงสัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

– หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ จะต้องหยุดสูบบุหรี่ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รวมถึงหลังการผ่าตัดด้วย เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้าและเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาต่างๆ

-แจ้งแพทย์และพยาบาลหากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่

-แจ้งแพทย์และพยาบาลเกี่ยวกับยาที่ทานประจำ สมุนไพร หรืออาหารเสริม

การผ่าตัดลดน้ำหนักมีวิธีการอย่างไร

 

1. การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy)

ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20%

ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร(Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกิดลดลง 60-70%

 

  1. การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric bypass)

ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดปลายหลอดอาหารที่เชื่อมกับกระเพาะไปต่อกับลำไส้โดยตรง ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร(Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง และลดการดูดซึมอาหารร่วมด้วย

ทำให้ลดน้ำหนักได้มากขึ้นและรักษาโรคร่วมที่เกิดจากโรคอ้วนได้ดียิ่งขึ้น ลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกิดลดลง 70-80%

 

  1. การผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve gastrectomy plus proximal jejunal bypass)

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดและเป็นที่นิยมในต่างประเทศ โดยเป็นผ่าตัดแบบส่องกล้องตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร(Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ร่วมกับการทำทางเชื่อมลำไส้เล็กใหม่เพื่อลดการดูดซึมอาหารร่วมด้วย ทำให้ลดน้ำหนักได้มากขึ้นและรักษาโรคร่วมที่เกิดจากโรคอ้วนได้ดียิ่งขึ้น โดยพบภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการทำผ่าตัดแบบบายพาสโดยผลในการลดน้ำหนักไม่ต่างกัน ลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกิดลดลง 70-80%

 

  1. การใส่ห่วงรัดกระเพาะ

การใส่ห่วงรัดกระเพาะ  ทำให้กินน้อยลง

ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากระยะยาวอาจจะมีปัญหาได้

เปรียบเทียบเทคนิคการผ่าตัดแต่ละแบบ
การผ่าตัดแบบสลีฟ การผ่าตัดแบบบายพาส การผ่าตัดแบบสลีฟพลัส
ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสม 32.5 – 50 kg/m2 >45 kg/m2 ขึ้นไป >45 kg/m2 ขึ้นไป
การฟื้นตัวหลังผ่าตัด เร็ว ปานกลาง เร็ว
น้ำหนักที่ลดได้หลังผ่าตัด* 60-70% 70-80% 70-80%
โอกาสหายจากโรคเบาหวาน

และโรคร่วมอื่นๆ

สูง สูงมาก สูงมาก
กรณีมีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง ไม่เหมาะสม เหมาะสม ไม่เหมาะสม
โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น + ++ +
โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว + ++ +

*น้ำหนักที่ลดได้ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน ระยะเวลาที่น้ำหนักลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 1 ปีหลังผ่าตัด

 


ประโยชน์ของการผ่าตัดลดน้ำหนักคืออะไร

หลังการผ่าตัดจะช่วยให้กระเพาะอาหารเล็กลงเหลือ 20% ของความจุเดิม ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลงโดยไม่รู้สึกหิว และจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น จึงช่วยจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารและนำไปสู่การลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผลลัพธ์ในการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร เป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาเท่าไรกว่าจะเห็นผลชัดเจน?

จากข้อมูลและงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่าหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักส่วนเกิดลดลงสูงถึง 60-80% โดยใช้ระยะเวลาหลังผ่าตัดประมาณ 6-12 เดือน

ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น หายจากโรคเบาหวานหรืออาการดีขึ้น >80%, หายจากโรคความดันโลหิตสูง 60-70%, หายจากโรคไขมันในเลือดสูง 80-90%

นอกจากนี้น้ำหนักที่ลดลงจะช่วยป้องกันโรคเข่าเสื่อม, กระดูกสันหลังเสื่อม, ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจตีบตันอีกด้วย

 

การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยและความชำนาญของศัลยแพทย์ผ่าตัด พบว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำมาก ขนาดแผลประมาณ 5-15 มิลลิเมตร เย็บแผลด้วยไหมละลาย และปิดแผลแบบกันน้ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อยมาก และลุกเดินได้หลังผ่าตัด 1-2 วัน โดยทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดทางกล้องที่ รพ.สินแพทย์ ใช้แพทย์เฉพาะทางที่มีประสบกาณ์ผ่าตัดสูงและจบเฉพาะทางด้านการผ่าตัดโรคอ้วนโดยร่วมกันโดยเฉพาะ 2 คน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและการันตีได้ว่าผ่าตัดกระเพาะออกได้ตามมาตรฐานการผ่าตัดลดน้ำหนัก นอกจากนี้ในกระบวนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดก็ยังมีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อให้การผ่าตัดลดน้ำหนักประสบความสำเร็จและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ให้น้อยที่สุด

 

เขียนโดยนพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ แผนกศัลยกรรม
โรงพยาบาลสินแพทย์ศรีนครินทร์ https://www.synphaet.co.th/srinakarin/doctor/นพ-เสฐียรพงษ์-จันทวิบูลย/

 

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ

แพ็กเกจส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
แพ็กเกจผ่าตัดส่องกล้องกระเพาะอาหาร
ราคา
250,000 ฿
แพ็กเกจส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
แพ็กเกจส่องกล้องกระเพาะอาหาร + ลำไส้ใหญ่ (Gastroscopy + Colonoscopy)
ราคา
27,500 ฿
แพ็กเกจส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
แพ็กเกจส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy)
ราคา
15,500 ฿