เอ็มอาร์เอ (MRA) คือ อะไร

17 ก.ค. 2563 | เขียนโดย ศูนย์เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และ เอ็ม อาร์ ไอ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เอ็มอาร์เอ (MRA หรือ Magnetic Resonance Angiography) เป็นเทคนิคการตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องถ่ายภาพด้วยสนามแม่เหล็ก เอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องใส่อุปกรณ์สวนหลอดเลือดและผู้ป่วยยังไม่ได้รับรังสีเอกซ์อีกด้วย เอ็มอาร์เอ จึงเป็นวิธีการตรวจที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดได้อย่างละเอียด แม่นยำและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น



MRA  การตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดด้วยการสร้างภาพหลอดเลือดจากเครื่องเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Angiography) MRA

 

เอ็มอาร์เอ (MRA) คือ อะไร

เอ็มอาร์เอ (MRA หรือ Magnetic Resonance Angiography) เป็นเทคนิคการตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องถ่ายภาพด้วยสนามแม่เหล็ก เอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องใส่อุปกรณ์สวนหลอดเลือดและผู้ป่วยยังไม่ได้รับรังสีเอกซ์อีกด้วย เอ็มอาร์เอ จึงเป็นวิธีการตรวจที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดได้อย่างละเอียด แม่นยำและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

หลักการของเครื่องเอ็มอาร์ไอ ที่ใช้ในการตรวจหลอดเลือด

อาศัยการส่งคลื่นวิทยุไปยังผู้ป่วยที่นอนอยู่ในสนามแม่เหล็กความเข้มสูงเมื่อหยุดกระตุ้นด้วยคลื่นวิทยุนิวเคลียสของอะตอมจะกลับเข้าสู่ภาวะระดับพลังงานปกติก็จะปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งเราสามารถบันทึกพลังงานที่เนื้อเยื่อปล่อยออกมา แล้วนำมาประมวลผลและสร้างภาพหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์โดยบางการตรวจจะต้องมีการให้สารเพิ่มความแตกต่าง (Contrast Media) แก่ผู้ป่วยเพื่อช่วยให้เห็นหลอดเลือดได้ชัดเจนมากขึ้น

 

เอ็มอาร์เอ ใช้ตรวจหลอดเลือดบริเวณใดได้บ้าง

การตรวจหลอดเลือดด้วยเทคนิคเอ็มอาร์เอ สามารถตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดได้หลายบริเวณ ดังนี้

  1. ตรวจหาลิ่มเลือดที่หลอดเลือดหัวใจ และต้นคอ ซึ่งอาจไปปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง
  2. ตรวจหาลิ่มเลือดหรือความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองได้
  3. ตรวจหาลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณต้นขา
  4. ตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดในไตและดูการไหลเวียนของเลือดบริเวณไตก่อนที่จะทำการปลูกถ่ายไต
  5. ช่วยในการวางแผนการผ่าตัดของแพทย์ก่อนที่จะทำการสวนหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

ข้อดี ของการตรวจหลอดเลือดด้วยเทคนิคเอ็มอาร์เอ

  1. ไม่มีรังสีเอ็กซ์ ที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
  2. เป็นวิธีตรวจหลอดเลือดโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเพราะไม่ต้องใส่อุปกรณ์สสวนหลอดเลือดใดๆ แก่ผู้ป่วยจึงไม่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย
  3. สามารถเห็นหลอดเลือดและความผิดปกติของหลอดเลือดได้ชัดเจนในทุกระนาบ และสามารถสร้างภาพเป็น 3 มิติ ได้อีกด้วย
  4. การตรวจหลอดเลือดด้วยเทคนิกเอ็มอาร์เอ นั้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตรวจหลอดเลือดด้วยวิธีการใส่สายสวนหลอดเลือด (Catheter Angiography)
  5. สารเพิ่มความแตกต่างที่ใช้ในเทคนิคเอ็มอาร์เอ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในคนไข้ที่แพ้ไอโอดีน

 

สารเพิ่มความแตกต่าง (Contrast Media) คืออะไร

สารเพิ่มความแตกต่าง (Contrast Media) คือ สารที่ให้ผู้ป่วยกลืนหรือฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อช่วยให้เห็นหลอดเลือด และความผิดปกติของหลอดเลือดได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและหัวใจ สารเพิ่มความแตกต่างที่ใช้ในการตรวจเอ็มอาร์ไอ นั้นมีความปลอดภัยสูงมากเนื่องจากไม่มีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบเหมือนที่ใช้ในการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยที่แพ้ไอโอดีน

 

ขั้นตอนการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์เอ

  1. สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการฉีดสารเพิ่มความแตกต่าง
  2. งดให้นมบุตรในผู้ป่วยที่ฉีดสารเพิ่มความแตกต่าง
  3. ในผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ อาจต้องพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เคลื่อนไหวในขณะที่ทำการตรวจ
  4. ถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ จะไม่ตรวจในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
  5. ในผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นต้องให้ยาระงับความรู้สึกนั้นผู้ป่วยจะต้องอดอาหาร และน้ำอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนได้รับยา
  6. ผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในร่างกาย เช่น คลิ๊บติดเส้นเลือดโป่งพองในสมอง, ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากโลหะ เป็นต้น ไม่สามารถเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอได้
  7. ผู้ป่วยต้องถอดเครื่องประดับ, ฟันปลอมและอุปกรณ์ที่เป็นโลหะทุกชนิดออกให้หมดก่อนเข้ารับการตรวจหลอดเลือดด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ

 

ขั้นตอนการตรวจหลอดเลือดด้วยเทคนิคเอ็มอาร์เอ

  1. ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจ นักรังสีเทคนิคจะจัดท่าการตรวจให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย, ผ่อนคลายและนอนนิ่งได้ตลอดการตรวจ อีกทั้งจะมีการติดเครื่องจับสัญญาณแม่เหล็ก (Magnetic Coil) ที่ส่วนต่างๆ ในร่างกายที่ต้องการตรวจด้วย
  2. ผู้ป่วยจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางของสนามแม่เหล็ก
  3. บางการตรวจจะต้องฉีดสารเพิ่มความแตกต่างให้แก่ผู้ป่วยในขณะที่เครื่องเอ็มอาร์ไอ กำลังจับภาพ เพื่อให้เห็นหลอดเลือดที่ต้องการตรวจได้ชัดเจน
  4. ขณะที่ทำการตรวจจะมีเสียงดังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของเครื่องปกติ
  5. นักรังสีเทคนิคจะตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของภาพให้เรียบร้อยก่อน จึงจะเสร็จสิ้นการตรวจ ระยะเวลาการตรวจโดยประมาร 30-45 นาที

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์เอ็กซเรย์ โรงพยาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

SHARE