เบาหวาน กับ ความอ้วน

22 ก.ค. 2563 | เขียนโดย ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ความอ้วนทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างที่ตับอ่อน หน้าที่ส่วนหนึ่ง คือ จับกับอินซูลินรีเซปเตอร์ที่อยู่ที่ผิวของเซลล์ นำน้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายไปใช้เป็นพลังงาน อินซูลินจะทำหน้าที่ออกฤทธิ์ได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นกับจำนวนอินซูลินรีเซปเตอร์และความสามารถในการจับของอินซูลินรีเซปเตอร์ในคนอ้วน ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้อินซูลินรีเซปเตอร์ทำงานได้ไม่ดีทำให้นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้น้อย น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น



ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 80 % และมากกว่า 90 % ของคนที่เป็นเบาหวานทุกกรณี ถ้าไม่เกิดจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานก็เกิดจากความอ้วน ยิ่งน้ำหนักเพิ่มมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคเบาหวานก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องระวัง

 

ความอ้วนทำให้เกิดเบาหวานได้อย่างไร

ความอ้วนทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างที่ตับอ่อน หน้าที่ส่วนหนึ่ง คือ จับกับอินซูลินรีเซปเตอร์ที่อยู่ที่ผิวของเซลล์ นำน้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายไปใช้เป็นพลังงาน อินซูลินจะทำหน้าที่ออกฤทธิ์ได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นกับจำนวนอินซูลินรีเซปเตอร์และความสามารถในการจับของอินซูลินรีเซปเตอร์ในคนอ้วน ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้อินซูลินรีเซปเตอร์ทำงานได้ไม่ดีทำให้นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้น้อย น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น

 

อ้วนแบบไหน… เสี่ยงต่อเบาหวาน

จากการศึกษาพบว่าโอกาสที่คนอ้วนจะเป็นเบาหวานนั้นขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้

  • ระดับของความอ้วนหรือระดับน้ำหนักที่มากเกินของบุคคลนั้น
  • ระดับไขมันบริเวณหน้าท้อง (อ้วนลงพุง)
  • ประวัติกรรมพันธุ์ที่มีต่อภาวะดื้ออินซูลิน
  • ความสามารถในการสร้างอินซูลิน ตลอดจนประสิทธิภาพของอินซูลินของบุคคลนั้น ๆ

 

รู้ได้อย่างไรว่าอ้วน

จากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index)

ดัชนีมวลกาย เป็นวิธีการประเมินปริมาณไขมันในร่างกายที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง โดยการคำนวณจากสูตรดังนี้

 

ดัชนีมวลกาย  = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / (เมตร)xส่วนสูง(เมตร)

 

น้ำหนักปกติ มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในระดับ 18.5 – 24.9 ถ้าน้อยกว่า 18.5 ถือว่าน้ำหนักต่ำกว่าปกติ ถ้าคำนวณได้ด่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ถือว่าน้ำหนักเกิน และกรณีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไปถือว่าอ้วน

 

จากการวัดรอบเอว

การวัดรอบเอวบริเวณกึ่งกลางระหว่างขอบกระดูกซี่โครงล่างซี่สุดท้ายกับปุ่มกระดูกสะโพกด้านหน้า สมารถบอกได้ถึงความอ้วน การมีเส้นรอบเอวสูงพบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวาน ภาวะเสี่ยงในผู้ชายคือ วัดรอบเอวได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) ส่วนผู้หญิง คือวัดรอบเอวได้มากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)

 

หนีห่างความอ้วน… ลดความเสี่ยงเบาหวาน

กลุ่มเด็ก

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารขยะ เช่น ไก่ทอด เนื้อติดมัน แฮมเบอร์เกอร์ นม เนย เค้ก ไอศกรีม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม โดยพยายามเปลี่ยนให้กินผลไม้แทน พ่อแม่ไม่ควรชื้อของกินเล่นเข้าบ้านไว้ล่อใจเด็ก
  • ลดการดูทีวี หรือนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดกันนานเกิน 2 ชั่วโมง ให้ชวนเด็กทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ช่วยทำงานบ้าน วิ่งเล่นหรือเดินออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาอย่างน้อยวันละ 30 นาทีทุกวัน เพื่อให้ใช้พลังงานมากกว่าที่เด็กกินเข้าไป ก็จะทำให้น้ำหนักลดลงได้

 

กลุ่มคนทั่วไป

  • เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เช่น เดิน ขี่จักรยานแทนการนั่งรถเดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟท์หรือบันไดเลื่อน ทำงานบ้านเองแทนการใช้เครื่องอำนวยความสะดวก ฯลฯ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ แอโรบิค ฯลฯ ทุกวัน วันละ 30 นาที
  • ประเมินความสมส่วนของร่างกาย โดยใช้ดัชนีมวลกายหรือวัดรอบเอวอยู่เสมอ
  • กินอาหารให้สมดุล เพิ่มอาหารจำพวกปลา ถั่ว ธัญพืช ผัก ผลไม้ให้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารติดมัน เช่น หนังไก่ อาหารหวาน เค็ม อาหารประเภททอด หรืออาหารขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์
  • ชิมอาหารทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการเติมเครื่องปรุงรสทุกชนิดเพื่อจะได้ไม่กินอาหารที่หวานหรือเค็มเกินไป
    • กินอาหาร 3 มื้อต่อวันในปริมาณที่พอเหมาะและสมดุลไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า
    • ควรกินอาหารจำพวกเนื้อสีเหลือง เช่น เนื้อปลา ไก่ แทนอาหารเนื้อสีแดง
    • งดเหล้าและบุหรี่
  • กินผัก ผลไม้ให้หลากหลายและเพียงพอ ผักและผลไม้เป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุ ทั้งยังมีกากใยที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายสมดุลและช่วยลดการสร้างและดูดซึมโคเลสเตอรอลในร่างกายทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ควรกินผัก ผลไม้วันละ 4 – 5 ทัพพี (ทัพพีสำหรับตักข้าว) หรือผักสุก 9 ช้อนโต๊ะและผลไม้อีก 2 ลูก (ขนาดเท่าผลส้ม)

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

SHARE