ทำความรู้จักกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases)

2 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรค NCDs หรือ non-communicable diseases  คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคในกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ คือค่อยๆ สะสมอาการทีละนิดโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำก็มักจะไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา จนโรคค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด จนถึงภาวะอันตรายและส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมาก เช่น เกิดภาวะติดเตียงภายหลังการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก มีอาการเหนื่อยหอบเรื้อรังหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

 


โรคที่อยู่ในกลุ่มโรค 
NCDs มีอะไรบ้าง

  • โรคเบาหวาน : ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ตาบอด ไตวาย แผลเรื้อรังที่เท้า
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง : เกิดจากการเกาะของคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดส่งผลให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่เพียงพอ นำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคถุงลมโป่งพอง : ถุงลมในปอดเกิดการอักเสบ จนทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติ มักเกิดจากการสูบบุหรี่
  • โรคมะเร็ง : เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ ที่พบมากคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • โรคความดันโลหิตสูง : เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ เกิดจากอายุที่มากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารรสเค็ม ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งขึ้น แล้วเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ
  • โรคอ้วนลงพุง : เกิดจากระบบการเผาผลาญผิดปกติ รับประทานของหวาน ของมัน ของทอดมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้ไขมันสะสมบริเวณใต้ผิวหนังและในช่องท้อง ทำให้มีรอบเอวใหญ่ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ใน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และนอนกรนได

 

พฤติกรรมเสี่ยงที่พาไปสู่โรค NCDs

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน  การทำงาน ความเครียด หรือแม้กระทั่งการพักผ่อน หากเราใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง ละเลยการดูแลสุขภาพ ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็มีมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมที่ควรระวังมีดังนี้

  • บริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีภาวะเครียด
  • การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เช่น ยาแก้ปวด ยาชุด ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน

 

ลดเสี่ยงโรคได้ แค่ปรับพฤติกรรม

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง
  • ลดการกินเค็ม ปริมาณโซเดียม < 2,500 mg/วัน (ประมาณเกลือแกง 1 ช้อนชา)
  • ลดการกินหวาน ปริมาณน้ำตาล <20 g/วัน (ประมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา)
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง ให้ได้สัปดาห์ละ 5 ครั้ง หรือรวม 150 นาที
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลายความเครียด
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ค่าน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar), ไขมันในเลือด (Cholesterol, LDL, HDL, Triglyceride), ค่าตับ (AST, ALT), การทำงานของไต (BUN,Creatinine), ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), เอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) และอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

 

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคกลุ่ม NCDs เพิ่มขึ้นทุกปี และเพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากกลุ่มโรค NCDs เราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นตัวการของการก่อโรค ควรตรวจสุขภาพร่างกายปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คความแข็งแรงของร่างกาย และหาแนวทางป้องกันโรคต่างๆ

 

SHARE