หลายคนอาจเคยมีความรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย รับประทานอาหารลงไปนิดหน่อยก็แน่น บางครั้งมีแก๊สเยอะต้องเรอ หรือ ผายลมบ่อยๆ จนเสียบุคคลิกภาพ เสื้อผ้าคับเพราะท้องป่อง บางครั้ง อืดแน่นมาก บางครั้งก็หายไปเอง ปัญหานี้มีทางแก้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการดังกล่าวและวิธีการดูแลเมื่อเกิดอาการกันก่อน
หลายคนอาจเคยมีความรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย รับประทานอาหารลงไปนิดหน่อยก็แน่น บางครั้งมีแก๊สเยอะต้องเรอ หรือ ผายลมบ่อย ๆ จนเสียบุคลิกภาพ เสื้อผ้าคับเพราะท้องป่อง บางครั้ง อืดแน่นมาก บางครั้งก็หายไปเอง ปัญหานี้มีทางแก้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการดังกล่าวและวิธีการดูแลเมื่อเกิดอาการกันก่อน
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดจากมีสภาวะลม หรือ แก๊ส มากเกินในระบบย่อยอาหาร สาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ คือ
- มีลมในทางเดินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเนื้องอกเนื้อร้ายซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหาร อาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียแฝงที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารที่เรียกว่า Helicobacter Pylori (เอช.ไพโรไล)
- ปัญหาจากลำไส้เล็ก จากการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ เกิดจากน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ตับ หรือ ตับอ่อน ทำงานได้น้อย จำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์มีปริมาณมาก หรือ น้อยไป หรือ เกิดจากสภาวะการบีบตัวที่ผิดปกติ
- ลำไส้มีการอุดตัน ทำให้ลมหรือแก๊สไม่สามารถผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้ ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการผ่าตัดหน้าท้อง หรือ จากก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่อุดตันลำไส้ เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าว จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียนร่วมด้วย
- ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
- ผู้ป่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าลม หรือ แก๊สในลำไส้อาจจไม่มาก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการอืดแน่นท้องได้
แนวทางการตรวจวินิจฉัยและการปฏิบัติตัว
- ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากพบความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจเอ็กซเรย์ หรืออัลตราซาวด์หน้าท้อง หรือ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร และลำไส้ เป็นต้น
- การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาเพื่อรักษาตามโรคที่พบ เช่น ยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ยาลดการหลั่งกรด ลดอาการอืดแน่นท้อง ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- การผ่าตัด กรณีที่มีการอุดตันลำไส้ โรคเนื้องอก หรือ มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- สิ่งสำคัญ คือ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการโดยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติแม้เป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันก่อนเกิดอาการที่รุนแรง