
ในปัจจุบัน โรคภูมิแพ้ซึ่งจัดเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ กำลังมีอัตราการเกิดที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากปัจจุบัน จากความเจริญทางวัตถุ และความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้การเกิดโรคติดเชื้อต่ำลง แต่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมกลับสูงขึ้น คนมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอาคารนานขึ้น การถ่ายเทอากาศที่น้อย การใช้พรม การเลี้ยงสัตว์ในอาคาร ทำให้อุบัติการณ์เกิดโรคภูมิแพ้มากขึ้น โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ดูเหมือนจะไม่ใช่โรคร้ายแรง นอกจากบางโรค เช่น โรคหืด และปฎิกิริยาการแพ้บางชนิด เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แมลงต่อย ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคภูมิแพ้ คืออะไร
โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อตัวกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช อย่างมากผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น
- ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูก แล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก เกิดอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ คันจมูก ถ้าเป็นโรคหืด เมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลม ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น โดยหายใจมีเสียงเหมือนนกหวีด ดังวี๊ดขึ้น อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาที หรือเป็นชั่วโมงก็ได้
- ถ้าเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ก็จะมีอาการคันที่ผิวหนัง หรือมีผื่นแบบลมพิษ
- ถ้าแพ้อาหารก็จะมีอาการปากบวม หรือมีลมพิษขึ้น
ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวการณ์ตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช้สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ หรือฝน ความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้ และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
อาการแทรกซ้อนเมื่อเป็นภูมิแพ้
ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่แพ้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ทางจมูก ก็จะมีอาการปากแห้งเวลาตื่นนอน เนื่องจากเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืน ทำให้นอนอ้าปากหายใจ ง่วงเหงาหาวนอนเวลาเรียน สมาธิสั้น ทำให้ความคิดความจำสั้น ถ้าเป็นหืด ก็จะทำให้สมรรถภาพการทำงานลดลง เพราะจะเหนื่อยง่าย ถ้าเป็นรุนแรง และมีอาการในที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือไม่มียาขยายหลอดลมติดตัวก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือการรักษาที่ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการได้
ชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย
สามารถแบ่งตามระบบของร่างกาย ออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- โรคภูมิแพ้ทางตา
- โรคภูมิแพ้หลายระบบ หรือ แบบช๊อค
สถิติการเกิดโรคภูมิแพ้ มีคนเป็นมากน้อยเพียงใด
จากข้อมูลของการวิจัยในประเทศไทยพบว่า เด็กไทยมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกประมาณ 40% ซึ่งสูงกว่า 10 ปีที่แล้ว 2 เท่า, ประมาณ 13% ของเด็กไทย และ 5-10 % ของผู้ใหญ่เคยมีอาการของโรคหืด
การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
- การซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรืออาการภูมิแพ้ทางครอบครัว
- การสังเกตสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมของการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน
- การตรวจภายในโพรงจมูก
- การตรวจสมรรถภาพปอดโดยการเป่าลม เพื่อดูปริมาตรของอากาศ การตรวจวินิจฉัยด้วย ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้ด้วย
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- การตรวจเลือด
การป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้
-
การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
จากผลการวิจัย ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย มีการแบ่งชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ออกเป็น 2 ประเภท ชนิดแรกเป็นสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน ได้แก่ ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน และแมลงสาบ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งเราจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ในตอนนอน จะทำให้เรามีอาการเกือบทุกวัน ส่วนชนิดที่สอง เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่นอกบ้าน เช่น ละอองเกสรพืช วัชพืชต่าง ๆ เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้จะทำให้เกิดอาการชั่วคราวเฉพาะเวลาที่ออกนอกบ้าน นอกจากสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวแล้ว ยังมีตัวกระตุ้นทางกายภาพอีกที่ทำให้เกิดการอักเสบของโพรงจมูกหรือหลอดลม เช่น ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การที่มีอาการทุกครั้งก่อนหรือหลังฝนตก ส่วนประเภทสุดท้าย เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม สีทาบ้าน ควันไฟ กลิ่นสารเคมี กลิ่นธูป
การป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น คนที่แพ้ไรฝุ่น ควรจะซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยความร้อน ร่วมกับการซักด้วยผงซักฟอก ถ้ามีเครื่องซักผ้าชนิดตั้งความร้อนได้ ก็ให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 60 องศา 30 นาที บนเตียงนอนไม่ควรมีตุ๊กตาผ้า ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ้าน ควรเก็บขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ ไม่ควรสูบบุหรี่ภายในบ้าน
-
การดูแลสุขภาพส่วนตัวและการออกกำลังกาย
ภาวะเครียดและการอดนอน จะทำให้อาการของภูมิแพ้แย่ลง ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น การออกกำลังกายจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้น แต่ต้องเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เป็นแบบแอโรบิค เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ไม่ออกกำลังกายในช่วงที่อาการของโรคหืดกำเริบ อากาศช่วงที่ออกกำลังกายไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ใช้เวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสม
-
การรักษาด้วยยา
โดยแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกเป็น 3 ระดับง่าย ๆ ดังนี้
- การใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ แอนตี้ฮีสตามีน ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในอดีต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้รับการรักษาแค่ระดับนี้ จึงทำให้รู้สึกว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่รักษายาก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ดังนั้น คนที่มีอาการภูมิแพ้ต่อเนื่องควรได้รับการรักษาในระดับที่ 2
- การใช้ยาต้านการอักเสบ มักจะอยู่ในรูปของยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดเข้าทางปาก
- การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ต่อไปเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการ แต่ก่อนจะเลือกการรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องตรวจให้ทราบก่อนว่ามีการแพ้สารอะไร ซึ่งทราบได้จากการทำทดสอบทางผิวหนัง และการเจาะเลือด ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน ในระยะต่อมาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาประเภทอื่นอีกเลย
โรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ จึงไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ส่วนการรักษาให้หายขาดได้นั้น ต้องดูที่กลไกของการเกิดโรคภูมิแพ้ คนที่จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ได้นั้น จะต้องมีปัจจัย 2 อย่างประกอบกัน คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และการได้รับสารก่อภูมิแพ้ ดังนั้น ถ้ามีองค์ประกอบไม่ครบก็ไม่เกิดโรค ถ้าเกิดเป็นโรคแล้วโดยธรรมชาติของโรคนี้ มักจะมีอาการตอนอายุน้อย เมื่ออายุมากขึ้นอาการก็จะลดลงไปเอง ยกเว้นส่วนน้อยที่ยังมีอาการจนโต ในส่วนนี้ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกต้องอาจไม่มีอาการอีกเลยตลอดชีวิต แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ตัวระบบภูมิแพ้ของผู้ป่วยและวิธีการรักษาด้วย วิธีที่จะได้ผลในระยะยาว ก็คือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ภูมิแพ้ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)