โรคภูมิแพ้จมูก (Allergic rhinitis)

2 ก.ย. 2563 | เขียนโดย พญ.ศิวาพร ทรัพย์สพรั่ง กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรคภูมิแพ้จมูก (Allergic rhinitis)

   โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง (Chronic rhinitis) เป็นโรคที่พบบ่อยมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  สาเหตุเกิดจากมีการอักเสบของเยื่อบุในจมูก โดยอาจเกิดจากภูมิแพ้(Allergic rhinitis) หรือไม่ใช่ภูมิแพ้(Non-allergic rhinitis) ก็ได้ และเนื่องจากกลไกการเกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่1 (IgE-mediated hypersensitivity reaction type I) ดังนั้นจึงแยก2ภาวะนี้โดยการแพ้สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ซึ่งตรวจโดยการสะกิดผิวหนัง(Skin prick test) หรือเจาะเลือดหาการแพ้จากในเลือด(Specific IgE for aeroallergen)
การวินิจฉัย
จากอาการและอาการแสดงอย่างน้อย 2 อาการดังต่อไปนี้
1. คันจมูก คันตา
2. น้ำมูกไหล
3. จาม
4. คัดจมูก
เป็นเวลานานมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ หรือนานมากกว่า 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อย จนถึง ปานกลางถึงมาก

อาการแสดง
   เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ (เช่น ฝุ่นบ้าน, แมลงสาบ, หญ้า, ขนสุนัขหรือแมว) หรือ สิ่งกระตุ้นอื่นเช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ความแปรปรวนของอากาศ จะมีอาการคันจมูก อาจมีอาการจามติดๆกันหลายครั้งและมีน้ำมูกใสๆ มีอาการคัดแน่นจมูก โดยอาจมีอาการคันที่ตา, คอ, หูหรือที่เพดานปากด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่นอาการปวดศีรษะ, เสียงเปลี่ยน (hyponasality), จมูกไม่ได้กลิ่น(anosmia) , น้ำมูกใสๆไหลลงคอ (postnasal drip) อาการดังกล่าวมักเป็นอยู่เป็นนาทีหรือชั่วโมง หลังจากนั้นจะหายได้เอง นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจ มีอาการหูอื้อหรือมีเสียงดังในหูจากรูเปิดของ eustachian tube บวม, อาการคล้ายกับมีก้อนหรือมีอะไรติดๆในคอ (sense of lump in the throat) หรืออาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรังจากการที่มี postnasal drip และการที่หายใจทางปากเป็นประจําเนื่องจากคัดจมูก

ภาวะแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษาและอาการเป็นมาก ได้แก่
1. ไซนัสอักเสบ(Sinusitis) คือการมีหนองในโพรงไซนัส ทำให้มีไข้ น้ำมูกเขียว ไอ ปวดหน้า จมูกไม่ได้กลิ่น
2. หูชั้นกลางอักเสบ(Otitis media with effusion) เนื่องจากรูเปิดของท่อ eustachian tube ต่อระหว่างเยื่อบุจมูกและรูหู เมื่อมีการอักเสบและบวมของเยื่อบุจมูกอาจทําให้มีการบวมและอุดตันของรูเปิดดังกล่าว ทำให้เกิดการอักเสบไปถึงหูชั้นกลางได้
3. นอนกรน (snoring) การมีเยื่อยุจมูกอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีต่อมอะดรีนอยด์ และทอนซิลโตขึ้นได้
4. หอบหืด(Asthma) พบว่าเป็นโรคที่พบร่วมได้บ่อยของ allergic rhinitis โดยผู้ป่วยที่เป็นูมิแพ้จมูกเป็นหอบหืดประมาณ 20% ในทางกลับกัน ผู้ป่วยโรคหอบหืดเป็นภูมิแพ้จมูกมากถึง 80%
5. ริดสีดวงจมูก (Nasal polyposis) โดยจะพบว่ามีก้อนใสๆในจมูกและทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกตลอดเวลา

การรักษา

1.การดูแลสุขภาพทั่วไป (general measures) พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกําลังกายสมํ่าเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

2.กําจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสารก่อนภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้

3.การรักษาโดยการใช้ยา โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค

        A.รุนแรงน้อย ให้กินยาแก้แพ้ (antihistamine) เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาที่มีอาการ หากมีอาการคัดจมูกที่จําเป็นต้องใช้ยาลดบวม (decongestant) มีทั้งชนิดกิน เช่น พวก pseudoephedrine หรือแบบพ่นจมูก เช่น Oxymetazoline

       B.รุนแรงปานกลางถึงมาก ให้ยาพ่นสเตียรอยด(Topical corticosteroid) ยาพ่นจมูกนั้น ออกฤทธิ์ช้า ในระยะแรกหากผู้ป่วยมีอาการมาก อาจต้องให้ร่วมกับยาแก้แพ้และยาลดจมูกบวม(decongestant) ชนิดกินหรือพ่นประมาณ 1 สัปดาห์

       C.การให้การรักษาโดยการฉีดวัคซีน (allergen immunotherapy) ควรต้องให้การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ข้อบ่งชี้ในการให้การรักษาโดยวิธีนี้ คือ หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ไม่ได้ หรือมีอาการรุนแรงที่ใช้ยาทั้งหมดแล้วไม่ได้ผลหรือไม่สามารถหยุดยาได้

SHARE