โรคตุ่มน้ำพองคืออะไร ? เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างแอนติบอดี้มาทำลายโครงสร้างที่ยึดเกาะเซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าหรือรอยต่อระหว่างชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ ทำให้ผิวหนังแยกออกจากกันเกิดเป็นตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ
โรคตุ่มน้ำพองที่พบได้บ่อยมี 2 โรค ได้แก่ โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) ซึ่งพยาธิสภาพของโรคอยู่ในชั้นหนังกำพร้า และ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ซึ่งพยาธิสภาพเกิดระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้
อาการของโรคตุ่มน้ำพองเป็นอย่างไร ?
โรคเพมฟิกัส จะมีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆกันขึ้นบริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น ลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ ตุ่มน้ำแตกเป็นแผลถลอกได้ง่าย ปวดแสบมาก เมื่อแผลหายมักเป็นรอยดำโดยไม่มีแผลเป็น มักมีแผลถลอกในช่องปากหรือเยื่อบุบริเวณอื่นร่วมด้วย
โรคเพมฟิกอยด์ มักมีผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสลักษณะเต่ง แตกยาก มักพบบริเวณหน้าท้อง หน้าอก แขนหรือขาด้านใน ไม่ค่อยพบแผลถลอกในช่องปากหรือเยื่อบุ โรคมีความรุนแรงน้อยกว่าเพมฟิกัส
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพองทำอย่างไร ?
- นอกจากการถามประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเลือดและตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่มีตุ่มน้ำไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค
โรคตุ่มน้ำพองรักษาอย่างไร ?
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่น อะซาไธโอพรีน ไซโคลฟอสฟาไมด์ ถือเป็นการรักษาหลักของโรค โดยขนาดและระยะเวลาที่ใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจใช้รักษาโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง
- การให้อิมมูโนโกลบูลินหรือยาริทูซิแมบทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อตัวโรค ในกรณีที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล
- ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา ใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
โรคตุ่มน้ำพองมีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรัง การรักษาต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องและติดตามอาการสม่ำเสมอ เพื่อให้โรคสงบโดยเร็วและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
โรคตุ่มน้ำพองติดต่อได้หรือไม่ ?
โรคตุ่มน้ำพองเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ไม่ใช่โรคติดต่อ การสัมผัสกับผู้ป่วยจึงไม่ทำให้ติดโรค
#โรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรา
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ