“เเพ้อาหารเเอบเเฝง” เรื่องที่เราอาจไม่เคยรู้ ..เล่าสู่กันฟัง

20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พ.ญ. ณัฐชลี คุณาภรณ์ อายุรแพทย์ Wellness Center

หลายคนคงพอคุ้นเคย กับ ภาวะแพ้อาหารเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นทันที หลังกินอาหารที่แพ้ เช่น อาการคัน ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม ริมฝีปากบวม กล่องเสียงบวม หลอดลมตีบ หายใจไม่สะดวก ความดันต่ำ  กลไกของภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเคยได้รับสารที่แพ้เข้าไป เม็ดเลือดขาวจะสร้าง อิมมูโนโกลบูลิน E ( Ig E) เอาไว้ พอร่างกายได้รับอาหารชนิดเดิมอีกในครั้งต่อมา  มันจะหลั่งสาร histamine และสารเคมีก่อการอักเสบ ทำให้ร่างกาย เกิดอาการแพ้ดังกล่าว ซึ่งแต่ละคนจะมีความรุนแรง มากหรือน้อยแตกต่างกัน บางคนแพ้มาก ก็อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

 

ส่วน “เเพ้อาหารเเอบเเฝง” หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามีการเเพ้อาหารแบบนี้ด้วย อาการไม่ได้ชัดเจนเหมือนเเพ้อาหารเฉียบพลัน ร่างกายจะส่งเเค่อิมมูโนโกลบูลินชนิด G ออกมาจับกับอาหารที่เเพ้ ซึ่งเป็นคนละชนิดกับภาวะแพ้เฉียบพลัน กลไกนี้จะไม่มีการหลั่งสารฮิสตามีนเเละสารเคมีก่อการอักเสบ เพราะฉะนั้นจะไม่เกิดผื่นลมพิษ ไม่เกิดกล่องเสียงบวม ไม่เกิดหลอดลมตีบ เป็นอาการเตือนไม่รุนแรง เช่น มวนท้อง รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย สิวขึ้น ผื่นคัน จนเราอาจมองข้าม นอกจากนั้นอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดทันที กว่าจะเกิดอาการใช้เวลาหลายชั่วโมง หรืออาจข้ามวัน พอให้ลองนึกย้อนว่ารับประทานอะไรมาบ้างเมื่อ 2-3 วันที่เเล้ว คงจะจำกันไม่ค่อยได้

 

เพราะเราไม่รู้ ยังคงรับประทานอาหารที่เเพ้เเอบเเฝงเข้าไปเรื่อย สะสมมากเข้า เป็นสาเหตุเเอบเเฝง ก่อให้เกิดอาการเเละโรคภัยเรื้อรังตามมา

 

ที่สำคัญคือ สังเกตว่าคุณมีอาการเรื้อรังแบบนี้หรือไม่
ผื่นคันเเบบไม่จำเพาะเจาะจง, สิวที่รักษามานาน, อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย, ท้องอืด ท้องเฟ้อ เเน่นท้อง มีลมเยอะ เป็นๆ หายๆ, ปวดศีรษะเรื้อรัง, โรคอ้วน น้ำหนักเกิน, โรคเเพ้ภูมิตัวเองเช่น SLE ฯลฯ

 

ถ้ามีแสดงว่าคุณอาจมีภาวะแพ้อาหารแอบแฝงอยู่

 

อาการเเละโรคภัยที่ได้กล่าวมานั้น เหมือนกับสภาวะลำไส้รั่วซึม  เนื่องจากทั้งสองเหตุนี้มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก เเพ้อาหารเเอบเเฝงอาจจะเป็นสาเหตุของลำไส้รั่วซึม หรือเกิดลำไส้รั่วซึมก่อน เเพ้อาหารเเอบเเฝงตามมาทีหลังก็ได้

 

เเพ้อาหารเเอบเเฝงสามารถตรวจได้ โดยการส่งตัวอย่างเลือดหาอิมมูโนโกลบูลินชนิด G ต่ออาหารที่เเพ้เเอบเเฝง

 

ส่วนวิธีรักษานั้นปลอดภัยมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอะไรเลย เเค่หลีกเลี่ยงอาหารที่เเพ้เท่านั้น ประมาณ 3-6 เดือน เราสามารถกลับไปรับประทานอาหารที่เราเคยเเพ้เเอบเเฝงได้อีก (ต่างกับเเพ้อาหารเฉียบพลัน ซึ่งไม่สามารถกลับไปรับประทานอาหารชนิดนั้นได้อีกตลอดชีวิต) เชื่อกันว่าอิมมูโนโกลบูลินชนิด G จับกับอาหารที่เเพ้เเอบเเฝง ล่องลอยไปตามกระเเสเลือด ไปสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งปกติร่างกายคนเรามีความสามารถกำจัดได้ในปริมาณหนึ่ง โดยจะถูกเม็ดเลือดขาวทำลาย และนำไปทิ้งที่ตับ ขณะเดียวกันเรายังคงรับประทานอาหารที่เเพ้เเอบเเฝงเข้าไปเรื่อย ทีนี้ร่างกายกำจัดออกไม่ทัน ตกค้างสะสมตามเนื้อเยื่อ ตามอวัยวะต่างๆ เกิดอาการเเละโรคภัยเรื้อรังตามมา อีกอย่างคือผลต่อสมอง (Limbic System) กระตุ้นความอยากรับประทานอาหารที่เเพ้เเอบเเฝง เราก็ไปหามารับประทานมากขึ้นอีก วนเวียนอยู่เช่นนี้ เเต่พอรู้ว่าเเพ้อาหารเเอบเเฝงชนิดใด หยุดรับประทานอาหารชนิดนั้น ร่างกายมีเวลาตั้งตัว ค่อยๆ กำจัดออกไป

 

เเม้ว่าจะสามารถกลับไปรับประทานใหม่ได้ ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากนัก ควรปรับให้เพียงพอต่อการกำจัดออกด้วย ส่วนตัวมักจะเเนะนำคนไข้ให้รับประทานอาหารหลากหลาย กะปริมาณอาหารเเต่ละชนิดให้พอเหมาะ อย่าให้มากเกินไป เป็นการกระจายความเสี่ยงทั้งในเเง่สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน เเละสุดท้าย “เเพ้อาหารเเอบเเฝง” ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของอาการเเละโรคภัยเรื้อรังบางอย่างที่รักษายาก จะได้ลาขาดกับเราสักที

SHARE