'เส้นเลือดขอด' เกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหลอดเลือดดำและผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดดำไม่สามารถไหลกลับไปที่หัวใจได้ตามปกติ เกิดการคั่งของเลือดดำเห็นเป็นเส้นเลือดโป่งนูนคดเคี้ยวบริเวณชั้นใต้ผิวหนัง มักเกิดขึ้นบริเวณขา
อาการของเส้นเลือดขอดเป็นอย่างไร ?
- เส้นเลือดโป่งนูนคดเคี้ยว สีฟ้าหรือม่วง
- ปวดเมื่อยขา ปวดเวลายืนนาน ตอนเช้าอาการดีขึ้นและแย่ลงในตอนเย็น
- คันบริเวณเส้นเลือดที่โป่งนูน
- ขาบวม
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกจากเส้นเลือดขอด แผลอักเสบเรื้อรังที่ผิวหนัง ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
ใครมีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด ?
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่ต้องยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
- ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดรักษาอย่างไร ?
วิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเลือดขอด ในผู้ป่วยที่เส้นเลือดขอดมีขนาดเล็ก อาจรักษาโดยการรับประทานยาหรือการใส่ถุงน่องเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่หรือรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด การใช้เลเซอร์ การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง หรือการผ่าตัดแบบเปิด
การรักษาด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงดีอย่างไร ?
การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง(Radio Frequency Ablation)เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเส้นเลือดขอด โดยแพทย์จะใส่สายไฟเบอร์ออพติกขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงทำให้เส้นเลือดฝ่อสลายไป ข้อดีของวิธีนี้คือ
- แผลขนาดเล็ก
- ฟื้นตัวไว สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ไว
- ปลอดภัย ไม่เจ็บแผล
- ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หรือนอนรพ. ระยะสั้น (1 คืน)
เส้นเลือดขอดป้องกันได้อย่างไร ?
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ
- ยกขาสูงเวลานั่งนานๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง การใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการแผนกศัลยกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ