เลือดออกที่ก้านสมอง สุดยอดจุดอันตรายภายในสมอง

27 ก.ค. 2563 | เขียนโดย ศูนย์สมอง แผนกศัลยกรรมระบบประสาท สมอง และไขัสันหลัง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะเลือดออกในสมองโดยทั่วไป พบไม่บ่อยมากนัก โดยเฉพาะเลือดออกในก้านสมอง มักมีอาการนำให้คนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะ ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงติดต่อกัน จนไม่สามารถยืนหรือนั่ง หรือทรงตัวได้เป็นเวลา 10-15 นาที แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือเคยตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณ คอ หรือ หลอดเลือดในสมองมาก่อน Close snippet editor



ก้านสมอง (Brain Stem)

เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของสมอง มีศูนย์ที่คอยคุมการทำงานที่สำคัญของร่างกายอยู่มาก เช่น การกลืน การหายใจ ดังนั้นหากมีอะไรก็ตามที่ไปรบกวนการทำงานของก้านสมอง หรือ มีเลือดออก และคั่งอยู่ที่ก้านสมอง จะทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต โดยอัตราการตายจะสูงมากถึง 70-80%

 

อาการเริ่มต้นของผู้ป่วย ช่วงแรกมีอาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียนแบบรุนแรงมากจนไม่ สามารถยืน หรือ นั่งทรงตัวอยู่ได้ พอเริ่มต้นเป็นก็จะเป็นรุนแรงมากขึ้นทันที มีอาการเซไปทางด้านขวาชัดเจน

 

เมื่อนำผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล จะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ ก็พบว่ามีดวงตาที่กรอกไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง และกระตุก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะอาการที่พบในคนที่เวียนหัวทั่วไป และน่าจะมีความผิดปกติภายในก้านสมองร่วมกับมีความดันโลหิตผิดปกติ และหัวใจเต้นผิดปกติ เมื่อได้รับการรักษาเรื่องนี้ดีแล้ว แต่การกระตุกของตา และอาการเวียนศีรษะก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังรุนแรงกว่าภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือเวียนศีรษะแบบทั่วไป จึงได้รับการตรวจด้วยเครื่อง MRI ก็พบว่ามีเลือดออกบริเวณก้านสมองขนาด ประมาณ 1-2 cm. อยู่ใกล้กับศูนย์ควบคุมการทรงตัวและศูนย์ควบคุมการหายใจ

 

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาท และสมอง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของของผู้ป่วยว่า

 

“ในคนไข้ทั่วไปที่มีเลือดออกในก้านสมอง ถ้าเลือดออกไม่เยอะจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำการผ่าตัดคนไข้ เนื่องจากการผ่าตัดบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อันตรายมาก แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีเลือดที่ออกขนาดใหญ่ จากผลการตรวจ MRI ก็พบว่า มีเลือดออกมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เยอะอาการจึงยังไม่ชัดเจน ในครั้งนี้เลือดที่ออกก้อนค่อนข้างใหญ่ อาการจึงเห็นได้ชัด การรักษาจำเป็นต้องผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่ยากและต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อันตราย และอยู่ลึก และมีความเสี่ยงหลังผ่าตัดค่อนข้างมาก เพราะในบางรายการผ่าตัดเอาเลือดออกได้ แต่อาการไม่ดี หรือแย่ลงแพทย์จะเลือกพิจารณาทำเฉพาะในรายที่จำเป็นเท่านั้น โดยใช้วิธีทางจุลศัลยกรรม คือการผ่าตัดโดยใช้กล้องไม่โครสโคป (Microscope) มาช่วยผ่าตัด”

 


                ภายหลังการผ่าตัด อาการของผู้ป่วยยังค่อนข้างแปรปรวนอยู่ในช่วงแรก เนื่องจากการผ่าตัดต้องเข้าไปยุ่งในส่วนของก้านสมอง การเต้นของหัวใจและการหายใจจึงยังไม่ปกติ แต่ภายหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แขนขาที่เคยอ่อนแรง หรือ ที่เคยเป็นอัมพฤตก็ค่อยๆ เริ่มดีขึ้น ภายหลังได้ เข้าทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายเข้ามาช่วย ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้จนเกือบเท่าปกติ ทำงานบ้านเบาๆ ได้ แต่กำลังอาจจะยังไม่เต็มร้อยต้องอาศัยการบำบัดและการฟื้นฟูอีกนิดหน่อย

 

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมประสาท ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุ ของเลือดออกในก้านสมองว่าสาเหตุส่วนใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 3กลุ่ม คือ

  1. ความดันโลหิตสูง ที่ไม่ได้รับการรักษา จนหลอดเลือดบริเวณนั้นไม่สามารถทนต่อความดันที่สูงได้ จนเกิดการแตกและมีเลือดออก
  2. กลุ่มที่มีเนื้องอก หรือ มีการติดเชื้อภายในสมอง จนทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือด
  3. มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดบริเวณก้านสมอง เมื่อเกิดความดันเปลี่ยนแปลง เช่น สูงขึ้นทันที หรือความดันลดต่ำ แล้วก็ขึ้นสูงในระยะเวลาสั้นๆ เส้นเลือดที่โป่งหรือขอดอยู่นั้นก็อาจะแตกขึ้นมาได้

 

วิธีการตรวจวินิจฉัย ภาวะเลือดออกในก้านสมอง


ในอดีตการตรวจหาค่อนข้างยากที่จะตรวจพบได้ แม้จะใช้การเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งมีกันอยู่ทั่วไปก็ไม่สามารถตรวจพบรอยโรคบริเวณก้านสมองที่มีขนาดเล็กกว่า 1เซนติเมตรได้ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีของการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI) และเทคนิค อื่นๆ ทั้ง MRA ( คือ การตรวจดูสภาพหลอดเลือด ) หรือการฉีดสารสี ฉีดยาเพื่อช่วยให้การตรวจวินิจฉัยเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น คนไข้จึงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ภาวะเลือดออกในสมองโดยทั่วไป พบไม่บ่อยมากนัก โดยเฉพาะเลือดออกในก้านสมอง มักมีอาการนำให้คนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะ ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงติดต่อกัน จนไม่สามารถยืนหรือนั่ง หรือทรงตัวได้เป็นเวลา 10-15 นาที แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือเคยตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณ คอ หรือ หลอดเลือดในสมองมาก่อน

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์สมอง แผนกศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง โรงพบาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE