วิธีวัด ประสิทธิภาพสมอง

5 พ.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.กุลริตรา พิศณุวงรักษ์ ศูนย์สมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เวลาเราไปหาหมอ หมอก็จะมีขั้นตอนการตรวจเหมือนกันทุกที่ คือ ถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด(Lab) ถ้าจำเป็น แล้วจึงบอกว่าเราเป็นอะไร จะรักษายังไง ในทางสมองก็ไม่แตกต่างกัน เราเริ่มจาก ถามประวัติ ตรวจร่างกายเฉพาะทางระบบประสาท และขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการตรวจเฉพาะทางประสิทธิภาพสมอง คือ การตรวจด้วยแบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยามาตรฐาน (Standardized Neuropsychological Batteries) และภาพวินิจฉัย (Imaging)



เวลาเราไปหาหมอ หมอก็จะมีขั้นตอนการตรวจเหมือนกันทุกที่ คือ ถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด(Lab) ถ้าจำเป็น แล้วจึงบอกว่าเราเป็นอะไร จะรักษายังไง

ในทางสมองก็ไม่แตกต่างกัน เราเริ่มจาก ถามประวัติ ตรวจร่างกายเฉพาะทางระบบประสาท และขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการตรวจเฉพาะทางประสิทธิภาพสมอง คือ การตรวจด้วยแบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยามาตรฐาน (Standardized Neuropsychological Batteries) และภาพวินิจฉัย (Imaging)

 

การใช้แบบทดสอบมาตรฐานทางประสาทจิตวิทยา (Standardized Neuropsychological batteries) มีทั้งแบบไว้สำหรับตรวจการทำงานของสมองทุกส่วนโดยรวม เช่น Mini mental status Examination, MMSE, หรือตรวจแยกการทำงานของสมองแต่ละส่วนอย่างละเอียด

 

แบบทดสอบกลุ่มนี้มีการ  validation ให้มีค่าความไว และความแม่นยำเพียงพอในการวินิจฉัยความผิดปกติของสมอง ในอดีตที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีภาพวินิจฉัยเท่าปัจจุบัน แพทย์ก็ใช้แบบทดสอบเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงต้องใช้ควบคู่กับภาพวินิจฉัย ในการตรวจการทำงานขั้นสูงของสมองเสมอ เพื่อให้บ่งบอกได้แม่นยำมากขึ้นว่า ความผิดปกติของสมองอยู่บริเวณไหน หยักไหน เพื่อออกแบบการรักษาที่เฉพาะเจาะจงต่อไป

 

****ส่วนภาพวินิจฉัย (Imaging) ที่คนทั่วไปหรือแพทย์เองมักเรียกติดปากสั้นๆว่าเอ็กซเรย์ จริงๆแล้ว คำว่าเอ็กซเรย์เป็นชื่อของรังสี x ที่ เราจะใช้ดูอวัยวะได้แค่บางอย่าง เช่น กระดูก เนื้อเยื่อเช่น เนื้อปอด ก้อนโตๆ ก้อนนิ่ว

 

แต่ทว่า สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนกว่านั้น เราจึงไม่สามารถใช้เอ็กซเรย์ปกติในการดูสมองได้  ดังนั้น ในการตรวจภาพวินิจฉัยเพื่อดูโครงสร้าง(structure imaging) และการทำงาน(function imaging) ของสมองจึงต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ อาทิ

 

CT  เป็นขั้นพัฒนาของเอ็กซเรย์ คือ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้ดูเนื้อสมองแบบคร่าวๆ หาเลือดออกในสมอง สมองบวม โพรงสมองโต ถ้าฉีดสี ก็จะพอดูเยื่อหุ้มสมองและระบบเส้นเลือดในสมองได้

CT เป็นภาพรังสีที่ใช้เวลาทำน้อย ราคาถูกกว่า ข้อจำกัดของ CT คือ สมองต้องเสียหายไปมากระดับหนึ่งถึงจะเห็นได้ในCT ถ้าความผิดปกติในสมองยังไม่มากก็จะยังมองไม่เห็น

 

  • CT perfusion คือการดูอัตรา และปริมาณ การไหลของเลือด โดยใช้ภาพ CT ปกติมาดัดแปลง

CT perfusion แรกเริ่มถูกนำมาใช้ประเมินเนื้อสมองของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพื่อตัดสินใจการรักษาด้วยการใส่ขดลวดเอาลิ่มเลือดในเส้นเลือดออก ปัจจุบันในการวัดการทำงานของสมองก็สามารถใช้ CT perfusion เพื่อดูการไหลของเลือดได้ โดยหลักการคล้ายกับ fMRI ที่จะกล่าวต่อไป

 

MRI หรือ ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำได้ทั้ง structural และ functional imaging

  • structural MRI

ใช้ดูโครงสร้างสมอง เราจะเห็นรายละเอียดเนื้อสมองได้ชัดขึ้น แยกส่วนได้ว่าส่วนนี้เป็น เปลือกสมอง เป็นเนื้อใน เป็นนิวเคลียส เป็นจุดขาว จุดดำ แผลเป็นต่างๆในสมอง สามารถเห็นได้กระทั่งเส้นทางวิ่งของใยประสาทสมอง (โดยใช้เทคนิค DTI) จึงสามารถบอกได้โดยละเอียดว่า โครงสร้างสมองผิดปกติที่ไหน ในอดีตสมองส่วนนี้ๆ เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน หรือเคยถูกกระทบกระแทกมาก่อน และดูความฝ่อของเนื้อสมองได้ดีกว่า ซึ่งดังกล่าวไปข้างต้นว่าใน CT จะมองไม่เห็น ถ้าความผิดปกติยังไม่มากพอ

 

ในยุคของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างปัจจุบัน เราสามารถนำ AI มาใช้กับ structural MRI ได้  เช่นเทคนิค volumetric brain imaging และ pattern recognition เนื่องจากเราทำ MRI กันมานานแล้ว เรามี data  ของภาพ MRI สมองมากเพียงพอ เมื่อเราต้องการวิเคราะห์ MRI ผู้ป่วยสักราย เราสามารถป้อนข้อมูลMRI ผู้ป่วย ให้ AI วิเคราะห์โดยอาศัย big data ที่มีอยู่ เพื่อบอกเราได้ว่า ผู้ป่วยมีสมองเริ่มเหี่ยวฝ่อหรือยัง ถ้ามี อยู่ในระดับไหน และอาจสามารถทำนายโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับ คุณภาพ ปริมาณ และความสามารถในการจัดการ data เหล่านั้น ที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านอื่นร่วมนอกจากทางการแพทย์ด้วย อาทิ data science, data engineering, software engineering

 

  • functional MRI (fMRI)

คือการนำภาพ MRI มาดัดแปลงด้วยคอมพิวเตอร์ให้แสดงผลเป็นสีต่างกัน แต่ละสีจะบ่งบอกว่าสมองส่วนนั้นทำงานปกติหรือลดลง เลือดมาเลี้ยงปกติหรือน้อยลง การตรวจแบบนี้เราจะบอกได้ว่าตำแหน่งที่สมองทำงานลดลง อยู่ที่ไหน และคือโรคอะไร เช่น สมองส่วน hippocampus ทำงานลดลง ผู้ป่วยก็น่าจะเป็นอัลไซเมอร์

 

PET scan

ใช้ตรวจการทำงาน  (function) ของสมองโดยเฉพาะ โดยการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าทางเส้นเลือดแล้วรอให้สมองดูดเอาสารนั้นเข้าไปเกาะอยู่ที่ต่างๆในเนื้อสมอง สารรังสีดังกล่าวจะถูกผูกกับโมเลกุลของกลูโคส เนื่องจากสมองใช้กลูโคสเป็นอาหาร ดังนั้นบริเวณไหนที่สมองไม่ดูดกลูโคสที่ติดสารรังสีไว้ หรือดูดน้อยลง ก็แปลว่าสมองส่วนนั้นไม่ทำงาน

 

ขยะในสมองเช่น amyloid, tau protein ที่สะสมในเนื้อสมองจากโรคสมองเสื่อม ก็สามารถนำมาทำ PET เพื่อใช้บอกโรคได้ เช่น Amyloid PET ก็จะพบว่าสารรังสีนั้นไปเกาะตามตำแหน่งที่มี amyloid อยู่

 

PET เป็นเครื่องมือวินิจฉัยมาตรฐาน (gold standard) ของกลุ่มโรคสมองเสื่อม แต่ก็มีข้อจำกัดคือ เครื่องหายาก หาตรวจได้เพียงบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆ เนื่องจากค่าเครื่องตรวจราคาสูง และผู้ป่วยต้องรับสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ร่างกาย ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะพัฒนาทางเลือกอื่น เช่น MRI, fMRI เทคนิคพิเศษ ที่สามารถดูการทำงานของสมองได้ใกล้เคียงกัน

SHARE