
มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายไทย 80% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีสาเหตุสำคัญมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มะเร็งตับ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ และรักษาได้ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก
- มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายไทย
- 80% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีสาเหตุสำคัญมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
- มะเร็งตับ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ และรักษาได้ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก
ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อให้ห่างไกลมะเร็งตับ
เนื่องจากโรคมะเร็งตับ ในระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ทำการรักษาได้ มักไม่แสดงอาการผิดปกติ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ หากมีสิ่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย จึงมักไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับการทำงานของตับ ตับจึงยังทำงานได้เกือบปกติ แต่เมื่อมีแสดงอาการที่ชัดเจน เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียดแน่นท้อง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ปวดชายโครงด้านขวา ตัวเหลืองตาเหลือง นั่นแสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก จนไม่สามารถที่จะรักษาได้และเมื่อพบในระยะนี้ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน
การตรวจหามะเร็งตับในปัจจุบัน ทำได้ดังนี้
- ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP (Alpha fetoprotein) เป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีในเลือด และเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งตับ แต่การตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีข้อมูลพบว่าประมาณ 30% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีค่า AFP ปกติ และค่า AFP อาจพบสูงได้ในโรคตับบางชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งดังนั้น จึงควรตรวจร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์
- ตรวจอัลตราซาวด์ดูอวัยวะในช่องท้อง (Ultrasound Abdomen) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงสร้างภาพจากอวัยวะภายใน การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้มองเห็นก้อนที่มีขนาดเล็กๆ ได้ในขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป
- ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้มองเห็นก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้
- ตรวจโดยการตัดชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy) เป็นการตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ช่วยยืนยันก้อนเนื้อที่พบว่าใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่องกล้อง
ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน
- สำหรับคนปกติทั่วไป แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Ultrasound Abdomen) และตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ควรตรวจอัลตราซาวด์, ตรวจเลือด AFP และตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ SGOT, SGPT, Liver function Test ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน เพื่อลดโอกาสเกิดตับแข็ง และเป็นการเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับได้ด้วย
เรามีวิธีการป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร
- เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในคนไทย คือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ดังนั้นจึงควรป้องกันการติดเชื้อนี้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีน จึงควรป้องกันโดยการ ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือเข็มสักร่วมกัน
- งดดื่มแอลกฮอล์
- ในผู้ที่เป็นโรคตับอยู่แล้ว ควรติดตามพบแพทย์สม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็งตับ เช่น ถั่ว โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ เมล็ดธัญพืชตากแห้ง พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว และเต้าหู้ยี้
พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)