หลอดหัวใจตีบ คือ ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
สัญญาณเตือนหลอดเลือดหัวใจตีบ
- เจ็บหน้าอกอย่างมากจนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนัก ๆ กดทับตรงกลางหน้าอก หรือการเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย
- เจ็บแน่นจุกอกหรือจุกใต้ลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ ครั้งละไม่เกิน 20 นาที พอนั่งพักแล้วอาการจะหายไป
- หายใจหอบ เหนื่อย
- เหงื่อแตกใจสั่น
- หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น (Heart Attack)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมอย่างรวดเร็ว กลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยส่วนมากจึงมักเป็นกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีทั้งสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยเสี่ยงที่คุมไม่ได้ ดังนี้
- อายุ
- พันธุกรรม
- เพศ
ปัจจัยเสี่ยงที่คุมได้ ดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง
- การสูบบุหรี่
- ระดับไขมันในเลือด
- โรคเบาหวาน
- การขาดการออกกำลังกาย
- ความอ้วน
วิธีลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ
เราสามารถลดความเสี่ยงโรคนี้ได้ด้วยการลดปัจจัยที่ควบคุมได้ ดังนี้
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจได้ในระดับหนึ่ง
- คุมโรคประจำตัวให้ดี หากคนไข้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง การคุมโรคเหล่านี้ให้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้มาก
หลอดเลือดหัวใจตีบเป็นภาวะอันตรายที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที