รู้จักกับโปรไบโอติกส์ หัวใจแห่งสุขภาพ และการชะลอวัย

25 ม.ค. 2565 | เขียนโดย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โปรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก ที่ช่วยปรับสมดุลสุขภาพ และชะลอวัยได้เป็นอย่างดี นอกจากการดูแลตัวเองเรื่องโภชนาการแล้ว เพื่อให้การชะลอวัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรหมั่นตรวจวินิจฉัยสุขภาพ ร่วมกับการวิเคราะห์การดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด



ภายในร่างกายของเรา นอกจากอวัยวะต่าง ๆ ที่ต่างทำงานเพื่อให้ร่างกายของเรามีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่คอยช่วยดูแลร่างกายของเราให้แข็งแรง แต่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง นั่นคือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่อาศัยอยู่ในร่างกาย เรียกว่าเป็น หัวใจดวงที่สอง ที่ช่วยดูแลสุขภาพ และช่วยชะลอวัยได้เป็นอย่างดี

 

โปรไบโอติกส์ คืออะไร ?

โปรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ มีส่วนช่วยในการดูแลระบบทางเดินอาหารให้เป็นปกติ ช่วยย่อย และสังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงคอยป้องกันร่างกายจากจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

 

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ที่มีต่อร่างกาย ?

  • ช่วยรักษาสมดุลในระบบย่อยอาหาร ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป
  • กระตุ้นการย่อยอาหารด้วยการสร้างเอนไซม์หลายชนิด
  • สร้างสารป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้
  • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย
  • มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ป้องกัน และบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง ท้องผูก เป็นต้น
  • ปรับสมดุลภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ลดการอักเสบ และติดเชื้อ เช่น ในระบบทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอด

 

เราสามารถเพิ่มโปรไบโอติกส์ในร่างกายได้อย่างไรบ้าง ?

โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ พบในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ (ไม่เติมน้ำตาล) กิมจิ มิโซะ เทมเป้ คอมบูชา เป็นต้น หรือ จะเลือกรับประทานโปรไบโอติกส์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบบผงละลายน้ำ แคปซูล ยาเคี้ยว ก็มีให้เลือกรับประทานได้เช่นกัน แต่การรับประทานโปรไบโอติกส์สังเคราะห์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือ ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ นั้น ต่างจาก การรับประทานโปรไบโอติกส์ในรูปแบบอาหาร ในระยะยาวอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะฉะนั้น ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

 

นอกจากนี้ ยังมีอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) พบได้ใน หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กระเทียม หอมใหญ่ มันแกว แก่นตะวัน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อย และดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก แต่อาหารเหล่านี้ จะถูกย่อยสลาย เป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ กระตุ้นการเจริญเติบโต การทำงาน และส่งเสริมฤทธิ์โปรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น

 

โปรไบโอติกส์นั้นเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของร่างกาย ที่ช่วยปรับสมดุลสุขภาพ และชะลอวัยได้เป็นอย่างดี นอกจากการดูแลตัวเองเรื่องโภชนาการแล้ว เพื่อให้การชะลอวัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรหมั่นตรวจวินิจฉัยสุขภาพ ร่วมกับการวิเคราะห์การดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ช่องทาง :
SHARE