- แพ้อาหาร คืออะไร?
“ภาวะแพ้อาหาร” หมายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำๆได้ หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม
ปัจจุบันภาวะแพ้อาหาร พบได้บ่อยถึงประมาณ 1-10% ของประชากรเลยทีเดียว อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยพบภาวะแพ้อาหารในผู้ป่วยเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่ และสามารถพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆได้บ่อยด้วย เช่น โรคผื่นแพ้ผิวหนัง หอบหืด และภูมิแพ้จมูกอักเสบ
.
- อาหารอะไรบ้าง ที่ผู้ป่วยมักแพ้?
อาหารที่ผู้ป่วยแพ้ที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- นมวัว
- ไข่
- แป้งสาลี
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- ถั่วเปลือกแข็งเช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท พีแคน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เฮเซลนัท บราซิลนัท
- ปลา
- อาหารทะเลได้แก่ กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก
.
- แพ้อาหาร จะมีอาการอะไรบ้าง?
อาการแสดง เมื่อมีภาวะแพ้อาหาร พบได้ในหลายระบบอวัยวะของร่างกาย ดังต่อไปนี้
- อาการทางผิวหนังเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น ลมพิษฉับพลัน ตาบวมปากบวม ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้จากการสัมผัส
- อาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือด เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น
- อาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น คัดจมูก น้ำมูกเรื้อรัง ไอ หายใจไม่สะดวก หอบ
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
นอกจากนี้ยังมีอาการแสดงอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงภาวะแพ้อาหาร ได้แก่ เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือเติบโตช้าผิดปกติ
ในบางครั้ง ผู้ป่วยแพ้อาหารอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง (anaphylaxis) โดยมีอาการแสดงหลายระบบพร้อมๆกันได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
.
- แพ้อาหาร หายได้หรือไม่?
ถึงแม้ผู้ป่วยแพ้อาหาร อาจแสดงอาการที่ฉับพลัน อาจมีอาการที่รุนแรง หรือเรื้อรังยาวนาน รบกวนคุณภาพชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เมื่อโตขึ้น โดยโอกาสหายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แพ้ด้วย อาทิเช่น ผู้ป่วยที่แพ้นมวัว มีโอกาสหายได้ถึง 70-90%
.
ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่ามีภาวะแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้าง เพื่อการหลีกเลี่ยงอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่หลีกเลี่ยงมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินภูมิคุ้มกันต่ออาหาร(โดยการสะกิดผิว และ/หรือ การตรวจเลือด) เป็นระยะๆ และทดสอบการแพ้อาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะหายแพ้ หรือมีอาการที่ดีขึ้น..
.
พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์กุมารเวช
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)