ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง อันตรายที่ควรระวังหลังการบาดเจ็บ

20 เม.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูงคืออะไร ?

ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome) คือ ภาวะที่มีความดันสะสมในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงเกินระดับปกติ จนทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเนื้อเยื่อ เมื่อเนื้อเยื่อไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในบริเวณนั้นตาย โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง

 

ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูงเกิดจากอะไร ?

ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง เกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้มีเลือดหรือของเหลวจากอาการอักเสบสะสมภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความดันภายในช่องปิดเพิ่มขึ้น จนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ การบาดเจ็บที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ๆ เช่น

  • กระดูกแขนและขาหัก
  • การบีบกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ตกจากที่สูง อุบัติเหตุรถชน
  • แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • แผลถูกงูกัดบริเวณแขนขา
  • การรัดของเฝือกหรือผ้าพันแผลที่แน่นเกินไป
  • การผ่าตัดหลอดเลือดบริเวณแขนขา
  • การถูกกดทับของแขนขาเป็นเวลานานในผู้ที่หมดสติหรือผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

 

อาการของภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง

  • มีอาการปวดและแสบร้อนบริเวณผิวหนัง โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
  • กล้ามเนื้อบริเวณนั้นบวมตึง
  • อาการชาและอ่อนแรง จากเส้นประสาทส่วนปลายถูกกดหรือขาดเลือดไปเลี้ยง
  • อาการซีดเย็น จากเลือดที่ไปเลี้ยงลดลง
  • คลำไม่พบชีพจรส่วนปลายของส่วนที่มีความผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง

ภาวะนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อตาย เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis)
  • เกิดพังผืด แผลเป็นในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการดึงรั้ง และการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ
  • เส้นประสาทตายอย่างถาวร เกิดอาการชา อ่อนแรง
  • การติดเชื้อแทรกซ้อน การติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต
  • ถ้ามีอาการรุนแรง อาจถึงขึ้นสูญเสียอวัยวะส่วนนั้น

 

วิธีรักษาภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูง

ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูงแบบฉับพลัน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดขยายช่องปิดกล้ามเนื้อโดยเร็ว เพื่อระบายความดันภายในช่องปิดให้ลดลง และลดการตายของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทอย่างถาวร ร่วมกับการรักษาประคับประคองอื่น ๆ เช่น การให้ยาแก้ปวด การให้สารน้ำเพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย การรักษาและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน

SHARE