ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability: LD)

20 ก.ค. 2563 | เขียนโดย พญ. สุธีรา คุปวานิชพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็ก

ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability: LD)

ภาวะการเรียนรู้บกพร่องหรือแอลดี คือ โรคทางระบบประสาทพัฒนาการที่เด็กมีปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองที่ควบคุมความสามารถในด้านนั้นๆ เช่น ปัญหาการอ่านสะกดคำ ปัญหาการเขียน หรือ ปัญหาด้านการคำนวณ

ลักษณะสำคัญ แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ

  1. การเรียนรู้บกพร่องด้านการอ่าน คือ เด็กมีทักษะการอ่านที่น้อยกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน อ่านสะกดคำไม่คล่อง อ่านช้า อ่านผิด รวมถึงไม่สามารถสรุปจับใจความจากเรื่องที่อ่านได้
  2. การเรียนรู้บกพร่องด้านการเขียน คือ เด็กที่มีความยากลำบากในการเขียน เขียนไม่ได้ สะกดคำผิด แบ่งแยกวรรคผิด เขียนแล้วคนอื่นอ่านไม่รู้เรื่อง รวมถึงความบกพร่องของลายมือ
  3. การเรียนรู้บกพร่องด้านคณิตศาสตร์ คือ เด็กมีทักษะความเข้าใจทางคณิตศาสตร์ที่ผิดปกติ เช่น ไม่เข้าใจจำนวน สับสนในหลักการคำนวณ เช่น การบวก การลบ การคูณ-หาร รวมถึงไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ได้

 

สาเหตุ

เกิดจากปัจจัยร่วมกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของสมองในตำแหน่งที่จำเพาะกับทักษะนั้นๆ โดยพบได้ถึง 4-10% ในเด็กวัยเรียน เพศชายพบมากว่าเพศหญิง 2-3 เท่า และพบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึง 40-50%

 

การวินิจฉัย

วินิจฉัยโดยกุมารแพทย์พัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก จากข้อมูลที่ได้จากพ่อแม่และคุณครู ตรวจประเมินเด็กอย่างละเอียด ร่วมกับการทดสอบระดับสติปัญญาและความสามารถทางการเรียน

 

แนวทางการช่วยเหลือ

  1. หากสงสัยว่าเด็กมีปัญหาอ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนผิด ไม่เข้าใจการคำนวณ หรือ ในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนในครอบครัวมีความบกพร่องในการอ่าน หรือ เด็กที่มีประวัติพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ควรพามาตรวจกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและแนวทางการดูแลรักษา
  2. ตรวจวินิจฉัยปัญหาอื่นๆที่พบร่วมกันและให้การช่วยเหลือ เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องทางภาษาและการสื่อสาร ปัญหาการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อมือ ปัญหาพฤติกรรม เป็นต้น
  3. ให้การช่วยเหลือด้านการศึกษา ได้แก่ ฝึกฝนการอ่านหนังสือ ฝึกการสะกดทุกวันโดยเริ่มจากพื้นฐานที่เด็กทำได้ ย่อยบทเรียนให้ละเอียดขึ้น คุณครูช่วยจัดทำแผนการเรียนรู้รายบุคคล ใช้สื่อการสอนหรือเทคโนโลยีช่วย และปรับการสอบ เช่น ให้เวลาสอบเพิ่มขึ้น คุณครูช่วยอ่านคำถามข้อสอบให้ เป็นต้น
  4. พัฒนาความสามารถด้านอื่นๆ เช่น ด้านกีฬา ดนตรี กิจกรรม สนับสนุนให้เด็กแสดงออกถึงจุดเด่นหรือความชอบความถนัดของตนเอง ช่วยให้เด็กได้เป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ ส่งผลให้เด็กรู้สึกดีต่อตนเองและสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเอง

 

การพยากรณ์โรค

การเรียนรู้บกพร่องเป็นความผิดปกติที่ต่อเนื่อง เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามีแนวโน้มที่จะเรียนซ้ำชั้น เลิกเรียน และมีความนับถือตนเองต่ำ ซึ่งส่งผลต่ออนาคตอย่างมาก

แต่หากเด็กได้รับการวินิจฉัยแต่แรกร่วมกับได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ทักษะการเรียนของเด็กดีขึ้นได้มาก นำมาสู่ความภาคภูมิใจในตัวเองและการประสบความสำเร็จในชีวิต


พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ