“พยาธิหอยโข่ง” หรือ ”พยาธิปอดหนู” เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Angiostrongylus cantonensis ซึ่งโดยปกติจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู ลักษณะพยาธิตัวเต็มวัยมีรูปร่างเรียวยาวประมาณ 2-3 ซม พยาธิตัวเมียมีขนาดใหญ่ลำตัวมีลักษณะลายแดงสลับขาว ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่า พยาธินี้พบมากในแถบเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้บ่อยทางภาคอีสานและภาคกลาง
ลักษณะและวงจรชีวิตของพยาธิหอยโข่ง
“พยาธิหอยโข่ง” หรือ ”พยาธิปอดหนู” เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Angiostrongylus cantonensis ซึ่งโดยปกติจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู ลักษณะพยาธิตัวเต็มวัยมีรูปร่างเรียวยาวประมาณ 2-3 ซม พยาธิตัวเมียมีขนาดใหญ่ลำตัวมีลักษณะลายแดงสลับขาว ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่า พยาธินี้พบมากในแถบเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้บ่อยทางภาคอีสานและภาคกลาง
พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน จากนั้นตัวอ่อนจะไชผ่านปอดออกมาจนถึงลำไส้และปนออกมากับอุจจาระหนู ตัวอ่อนระยะนี้จะถูกกินหรือไชเข้าสู่หอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม กุ้ง ปู กบ ตะกวด แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อคนกินสัตว์ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อนี้ เช่น นำหอยโข่ง กุ้ง กบ มาทำอาหารโดยไม่ปรุงให้สุกเสียก่อน ตัวอ่อนจะเดินทางไปที่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
อาการของการติดเชื้อพยาธิหอยโข่ง
หลังจากคนรับประทานตัวอ่อนพยาธิเข้าไป จะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-30 วัน ก่อนแสดงอาการของโรค โดยตัวอ่อนนี้จะไชเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ชักเกร็ง อ่อนแรง จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าพยาธิไชเข้าตา จะทำให้ตาอักเสบ ตามัว ไปจนถึงตาบอดได้
การป้องกันการติดเชื้อพยาธิหอยโข่ง
- รับประทานอาหารสะอาดที่ปรุงสุก ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ควบคุมหนูซึ่งเป็นโฮสท์ธรรมชาติ
การรักษาการติดเชื้อพยาธิหอยโข่ง
ปัจจุบันพยาธิหอยโข่งยังไม่มียาจําเพาะในการรักษา การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวดศีรษะ การให้ prednisolone ในผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การเจาะระบายน้ำไขสันหลังออกเป็นระยะเพื่อลดความดันของน้ำไขสันหลัง ในผู้ป่วยที่มีพยาธิไชเข้าไปในตาควรทำการผ่าตัดเพื่อเอาพยาธิออก