“...ข้อหัวไหล่เป็นข้อที่สำคัญของร่างกายคนเรา เพราะว่าเป็นข้อต่อที่สามารถขยับได้มากที่สุดของร่างกาย โดยขยับได้เป็นวงกว้างรอบร่างกาย เพราะฉะนั้นการที่เราดูแลรักษาข้อหัวไหล่ได้ดี ก็จะทำให้ร่างกายของเราสามารถใช้งานได้เต็มที่และมีความสุขครับ…”
สำหรับผู้ที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ ควรจะได้รับการตรวจให้แน่ชัดว่าอาการบาดเจ็บนั้นเป็นที่กระดูก หรือที่กล้ามเนื้อ การตรวจด้วยฟิล์มเอ็กซเรย์ก็จะช่วยให้ทราบว่ามีความผิดปกติที่กระดูกหรือไม่ แต่หากสงสัยว่าเป็นที่เนื้อเยื่อรอบๆ หรือเส้นเอ็นหัวไหล่ขาด ก็จำเป็นต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมโดยอาศัยอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ กับการตรวจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า CT-Scan หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อจะช่วยให้ทราบว่าปัญหาเกิดจากจุดใดและวางแผนในขั้นตอนการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการบาดเจ็บหัวไหล่ที่พบบ่อย มีดังนี้ กรณีที่เอ็นหัวไหล่ขาดมักพบในผู้ป่วยที่มีวัยเกินกว่า 40-50 ปีขึ้นไป ถ้าอายุน้อยลงไปกว่านี้มักพบว่าเป็นปัญหาจากหินปูนเกาะที่หัวไหล่โดยที่กลุ่มผู้ป่วยอายุประมาณ 20-40 ปีจะมาด้วยอาการปวดหัวไหล่มากหลังจากตื่นนอนตอนเช้าแล้วก็ยกหัวไหล่ไม่ขึ้นเลย ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของหินปูนเกาะที่เส้นเอ็นหัวไหล่ที่เกิดขึ้นเอง โดยตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดได้อย่างไร แต่บางครั้งก็อาจจะหายเองได้เหมือนกัน ยกเว้นบางคนที่ก้อนหินปูนใหญ่มาก ก็ต้องมาเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษา สำหรับผู้เป็นนักกีฬาแล้ว ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บพบอาการข้อไหล่หลุด เพราะใช้งานเยอะ กับ เส้นเอ็นหัวไหล่ขาดหลังอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
โดย นพ.สุวัฒน์ ศรีอนุชาต ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาและผ่าตัดส่องกล้อง รพ.สินแพทย์ ได้ยกตัวอย่างการรักษากลุ่มผู้ป่วยที่ปวดข้อไหล่ซึ่งแบ่งออกเป็น 3-4 ระดับ อย่างแรกเลยคือให้พักการใช้ไหล่ โดยอาจร่วมกับ การกินยา…มีทั้งยาต้านการอักเสบ ยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อแล้วแต่ความเหมาะสม อันดับต่อมาคือให้ ทำกายภาพ ซึ่งจะมีทั้งประคบอุ่นและประคบเย็น ส่วนที่ว่าจะเลือกใช้การประคบแบบอุ่นหรือเย็น ก็ต้องพิจาณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้โดยปกติแล้วถ้าเกิดจากอุบัติเหตุเราจะให้ประคบเย็นก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกและไหล่จะได้ไม่บวม เหมือนดังกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุพวกรถชน อุบัติเหตุกีฬา ให้ใช้ประคบเย็นก่อนใน 24 ชั่วโมงแรก ส่วนการประคบอุ่นจะใช้ในตอนที่ปวดกล้ามเนื้อจากการใช้งานหนัก ใช้งานผิดท่า…แต่หากผู้ป่วยได้กินยาแล้ว ทำกายภาพแล้วยังไม่หาย ก็จะใช้ ยาฉีด ที่มีส่วนผสมคือ “สเตียรอยด์” ฉีดเข้าที่บริเวณข้อไหล่ ซึ่งยาชนิดนี้หลายคนคิดว่าอันตรายแต่จริงๆ แล้วการฉีดยา “สเตียรอยด์” เฉพาะที่เป็นการรักษาที่ดี เพียงแต่ว่าจะต้องเจ็บจากการแทงเข็ม แต่หลังจากฉีดแล้วแทบจะหายปวดค่อนข้างเกือบสนิท หรืออย่างน้อยก็ 80-90% ถ้ารอยโรคไม่ค่อยมากนัก…
ส่วนอีกวิธีรักษาที่ต้องพิจารณาหลังจากได้ลองทำกายภาพ…กินยา และฉีดยาแล้ว…แต่ยังไม่เห็นผลก็ต้องอาศัยวิธี การผ่าตัด ซึ่ง คุณหมอสุวัฒน์ ระบุว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการเลือกรักษา
สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ ในปัจจุบันนั้น ศัลยแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กแล้วใช้กล้องส่องเข้าไปดูภายในข้อหัวไหล่ จะได้เห็นพยาธิสภาพภายในว่ามี สิ่งผิดปกติในส่วนไหน เช่น มีเส้นเอ็นขาดหรือไม่ กระดูกเสื่อมตรงไหน ก่อนที่จะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งมาช่วยเสริมในการจับและเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาด โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ขนาด 0.5 – 1 เซ็นติเมตร จำนวน 3-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้มีรอยโรคมากน้อยเพียงใด แต่โดยภาพรวมแล้วจุดเด่นของการผ่าตัดส่องกล้อง คือ …แผลเล็ก เจ็บน้อย หายไว และแม่นยำ กลับบ้านได้ไว ใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น…เนื่องจากกล้องที่นำมาใช้กับการผ่าตัดแบบนี้จะมีเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงจึงช่วยศัลยแพทย์ได้เห็นเนื้อเยื่อที่ขาดและอาการบาดเจ็บภายในได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดส่องกล้องนั้น…ต้องแล้วแต่โรคหรืออาการบาดเจ็บที่ผู้ป่วยเป็น…โดย คุณหมอสุวัฒน์ ได้ให้ตัวอย่างกรณีของผู้ป่วยที่เกิดหินปูนเกาะในหัวไหล่ สามารถขยับได้เลยหลังการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ขาดอาจจะต้องให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ เป็นระยะเวลา 3-4 อาทิตย์เพื่อให้เส้นเอ็นที่หัวไหล่ซ่อมแซมตัวเองก่อน อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดส่องกล้องอาจมีข้อจำกัดอันเกิดจากปัญหารอยโรคที่ขยายไปมากแล้ว เช่นเส้นเอ็นขาดมาก หรือมีกล้ามเนื้อหลายมัดที่ขาดร่วมด้วย หรือเส้นเอ็นที่ขาดนานๆ จนข้อหัวไหล่เสื่อม กรณีนี้การผ่าตัดส่องกล้องไม่อาจช่วยได้ จึงต้องใช้วิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแทน
“…ข้อหัวไหล่เป็นข้อที่สำคัญของร่างกายคนเรา เพราะว่าเป็นข้อต่อที่สามารถขยับได้มากที่สุดของร่างกาย โดยขยับได้เป็นวงกว้างรอบร่างกาย เพราะฉะนั้นการที่เราดูแลรักษาข้อหัวไหล่ได้ดี ก็จะทำให้ร่างกายของเราสามารถใช้งานได้เต็มที่และมีความสุขครับ…”
พบแพทย์เฉพาะทาง
ศูนย์โรคปวดข้อ , ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องข้อ, ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)