โรครองช้ำคืออะไร?
โรครองช้ำ คือ “โรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ” หรือ “เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ” เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้า ซึ่งสัมพันธ์กับการเดินลงน้ำหนักเท้า มักเป็นมากตอนเช้าขณะลุกจากเตียง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่เป็นมานานหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการจะเป็นเรื้อรังมากขึ้นจนอาจเป็นตลอดวันได้
สาเหตุ
เกิดจากการตึงตัวที่มากเกินของเส้นเอ็นฝ่าเท้าและอุ้งเท้าที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกขณะที่เราลงน้ำหนัก จนเกิดเป็นพังผืด และเกิดการอักเสบเรื้อรังสะสมมาเรื่อย ๆ
ปัจจัยเสี่ยง
- การใช้งานที่มากเกินจนร่างกายรับไม่ไหว เช่น การโหมวิ่งที่มากเกินไป หรือระยะทางเยอะเกินไป
- โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบน เป็นต้น
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้มีแรงส่งไปที่เท้าเยอะขึ้น
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิง
- การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
- การวิ่งที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามากเกินไป ซึ่งมักพบในนักวิ่งที่ก้าวค่อนข้างยาว
- การวิ่งที่พื้นแข็งเกินไป หรือรองเท้าแข็งหรือบางเกินไป และรับแรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร
อาการ
อาการของผู้ป่วยที่เป็นเอกลักษณ์ คือ จะปวดฝ่าเท้ารอบ ๆ ส้นเท้าไปถึงเอ็นร้อยหวายในช่วงแรกที่เริ่มใช้งาน เช่น ตอนตื่นนอน ตอนลุกจากการนั่งนาน ๆ เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดเหมือนมีเข็มมาแทงหรือโดนของร้อน อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการใช้งานไปสักระยะ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดจะเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
การวินิจฉัย
โดยทั่วไป การวินิจฉัยโรครองช้ำสามารถทำได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่
- เอ็กซเรย์: หากมีการอักเสบของจุดเกาะเส้นเอ็นเป็นเวลานาน ร่างกายจะสร้างแคลเซียมมาพอกไว้ ซึ่งหากเอ็กซเรย์พบแคลเซียมที่มาพอกจุดเกาะเส้นเอ็น จะเป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรครองช้ำ
- อัลตราซาวด์: สามารถบ่งบอกการบวมหนาของเส้นเอ็นฝ่าเท้าได้ ซึ่งจะบอกถึงการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้า
การรักษา
จะเริ่มจากการใช้ยาไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากยังไม่หาย จะเริ่มมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วย
- รับประทานยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และระยะเวลาการรับประทานยาไม่ควรนานจนเกินไป
- การใช้เฝือกอ่อน โดยจะใช้ในช่วงแรกเพื่อลดอาการอักเสบ
- ฝึกยืดเหยียดฝ่าเท้า และแช่เท้าในน้ำอุ่น
- ลดการใช้งาน เช่น การใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
- การใช้แผ่นรองเท้าที่มีลักษณะนิ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม
- ทำกายภาพบำบัด
- ใช้ความร้อนแบบอัลตราซาวด์
- การรักษาด้วยคลื่นกระแทก มักทำในกรณีที่ทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย หรือต้องการให้อาการหายเร็วขึ้น
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นระยะเวลาหนึ่งไม่สำเร็จ โดยจะมีหลายเทคนิค ซึ่งแพทย์จะเป็นคนเลือกให้เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย
การป้องกัน
เมื่อรักษาสำเร็จแล้ว ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยทั่วไปแล้ว อย่างที่ทราบกันว่าโรคนี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น เราสามารถดูแลตัวเองได้ไม่ยากหากเข้าใจปัจจัยเสี่ยงของโรค
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่ รองเท้าที่ไม่รัดจนเกินไป มีส้นที่นิ่ม มีแผ่นรองรองเท้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่น้ำหนักเยอะ หรือใช้งานเท้าเยอะ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน หรือการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง
- หากมีการออกกำลังโดยการวิ่งอยู่ประจำ ควรปรับท่าวิ่งให้เหมาะสม ได้แก่ ก้าวให้สั้นลง และลงน้ำหนักให้เต็มเท้า
- หากต้องใช้ฝ่าเท้าหรือใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ควรมีการถอดออกมาพัก และยืดเส้นเอ็นเป็นระยะ
- ในผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าที่ผิดปกติ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตัดรองเท้าให้เหมาะสม