“โรคลมชัก” หนึ่งในโรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง แต่ถึงอย่างนั้น แม้ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ โดยโรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็ก
จากการวิจัยของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ในปี 2015 พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคลมชักในทั่วโลกมีประมาณถึง 65 ล้านคนต่อปี และจากในสถิติพบสูงสุดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบ หรือผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
โรคลมชักในเด็ก ความผิดปกติที่ต้องระวัง
โรคลมชัก เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสประสาทในสมอง ทำให้ร่างกายเกิดการชักเกร็งไปทั้งตัว ส่วนใหญ่จะเจอในเด็กที่มีสุขภาพปกติดี มีพัฒนาการที่ดี ไม่มีปัญหาทางสมองใดๆ แต่ถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลทั้งต่อการพัฒนาการของเด็ก การเลี้ยงดู การเข้าสังคม รวมถึงการเรียนด้วย
มีอาการแบบนี้ ใช่โรคลมชักไหม?
อาการของโรคลมชักที่เกิดขึ้นมามีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่ากระแสประสาทในสมองที่ผิดปกตินั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของสมอง แต่โดยทั่วไปอาการชักสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
- อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดของกระแสประสาทในสมองว่าเกิดขึ้นที่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง กระตุก หรืออ่อนแรง แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมความรู้สึก จะมีอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ อีกตำแหน่งที่สามารถเกิดขึ้นได้นั่นคือ ตำแหน่งที่ควบคุมการมองเห็น ที่เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จะมีอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น
- อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู ซึ่งเวลาชักจะเกร็งและกระตุกนานกว่า 2-3 นาที หรืออีกลักษณะเป็นอาการชักลักษณะแบบเหม่อลอย เรียกไม่รู้ตัว จู่ๆ ก็นิ่งไป มักเป็นในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 30 วินาที แล้วหยุดเอง อาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งต่อวัน มักเป็นในเด็กที่อายุ 5-10 ปี
ต้นเหตุของโรคลมชัก
การเกิดโรคลมชักเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ถึงเด็กจะมีสุขภาพที่ดี ไม่มีปัญหาใดๆ ทางสมอง แต่ก็อาจเกิดจากการมีพยาธิสภาพในสมองได้ ซึ่งเมื่อถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจหาการทำงานที่ผิดปกติของสมองอาจพบ หรือไม่พบความผิดปกติก็ได้
มีผู้ป่วยจำนวนเกือบครึ่งนึงของผู้ป่วยทั้งหมดที่ไม่สามารถหาสาเหตุในการเกิดโรคลมชักได้ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถป้องกันการเกิดอาการชักได้ แต่ในจำนวนผู้ป่วยที่เหลือ สามารถแจกแจงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ ดังนี้
- ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital anomaly)
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมอง (genetic disease)
- ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด เช่น การติดเชื้อในครรภ์ การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เป็นต้น
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease)
- ความผิดปกติในโครงสร้างของสมอง การสร้างเนื้อสมองที่มีความผิดปกติ รวมถึงเส้นเลือด เช่น AVMs และเนื้องอกในสมอง
- การติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการติดเชื้อ
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักมักจะขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก โดยการวินิจฉัยมีความสำคัญตรงที่เมื่อได้ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด และใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยตรวจหาตำแหน่งจุดกำเนิดที่มีความผิดปกติในสมอง ยกตัวอย่างเช่น
– การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ช่วยวินิจฉัยโรคลมชัก และตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชักได้
– การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการตรวจทางรังสีที่ช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักได้
– การตรวจเพทสแกน (PET Scan) ช่วยหาตำแหน่งของสมองที่อาจเป็นจุดกำเนิดของการชัก โดยใช้ข้อมูลนี้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ
– การตรวจสเปค (SPECT) เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเพื่อหาจุดของสมองที่ทำให้เกิดโรคลมชัก
รับมือให้ถูก เมื่อลูกน้อยเป็นลมชัก
โรคลมชัก สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการชักได้โดยป้องกันไม่ให้ศีรษะมีการกระทบกระเทือนรุนแรง เมื่อลูกน้อยเกิดอาการชัก สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องมีก่อนเป็นอันดับแรกเลยคือ มีสติ พ่อแม่ต้องไม่ตกใจ และพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกน้อยอยู่เสมอ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้น เปรียบเสมือนตัวช่วยสำหรับลูกน้อยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ โดยมีวิธีปฎิบัติดังนี้
- พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องไม่ตกใจ และตั้งสติ
- พยายามจัดสถานที่ให้เด็กอยู่ในที่ปลอดภัยจากการชัก เพราะต้องให้นอนราบกับพื้น
- คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นให้หลวมผ่อนคลาย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี
- ให้เด็กนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลัก
- ถ้าตัวเด็กเกร็ง งอ หรือตึง ไม่ควรไปนวดบีบหรือพยายามฝืนอาการของเด็ก
- ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากเด็ก หรือพยายามงัดปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้
- สังเกตอาการชักของเด็ก และจับเวลาที่เกิดอาการชักไว้เพื่อสามารถแจ้งรายละเอียดให้กับแพทย์ได้ถูกต้อง และหากเด็กเกิดอาการชักบ่อยๆ เกินกว่า 1 ครั้งภายในวันเดียวกัน ควรพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านมากที่สุด
แนวทางการรักษาโรคลมชัก
โรคลมชักยังเป็นโรคที่หาทางป้องกันไม่ได้ แต่สามารถป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอาการชักได้ แต่ทั้งนี้ก็มีการรักษาโรคลมชักหลักๆ อยู่ นั่นคือ การใช้ยากันชัก เพื่อรักษาและควบคุมให้มีอาการชักน้อยลง ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองเพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ โดยทั่วไปการให้ยากันชักจะให้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น แล้วแต่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาการรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดลมชักนั้นๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ในบางรายทำได้แค่เพียงยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักโดยรับประทานยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 ที่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยา
รักษา “โรคลมชัก” ด้วยเทคโนโลยีตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เทคโนโลยีตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Brain) แผนกกุมารเวช หรือแผนกระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
ถึงแม้ลมชักในเด็กจะเป็นโรคที่ยังหาทางป้องกันไม่ได้ เพราะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลย เพราะส่งผลไปถึงการพัฒนาการของเด็ก และการใช้ชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างเสี่ยงเมื่ออยู่ตัวคนเดียว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่ตลอด และทำการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งเรื่องของกุมารแพทย์ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ พร้อมดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทในเด็ก และมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการวินิจฉัยและรักษาโรคระบบประสาทอย่างครบครัน ด้วยเทคโนโลยีตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), เทคโนโลยีตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Brain) และเทคโนโลยีตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI Brain)
คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวช หรือแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคระบบประสาทในเด็กได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ เพื่อให้ลูกน้อยได้เติบโตไปกับสุขภาพที่ดี และมีพัฒนาการที่สมวัยในระยะยาว
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ https://bit.ly/3d27RXv
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/2Cbm0F0
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/2UNkbUZ
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/3fu0IRo
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/3q8DZiS
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3q6LVkE