ต้อหิน เป็นโรคตาที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้มากรองจากต้อกระจก พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
โรคต้อหิน เกิดจากการที่ขั้วประสาทตาถูกทำลายทีละน้อยจากปัจจัยหลายชนิด ที่เป็นสาเหตุมากที่สุดคือ ภาวะความดันลูกตาที่สูงขึ้นและไปกดขั้วประสาทตาให้ฝ่อลงเรื่อย ๆ ทำให้มีการสูญเสียลานสายตาอย่างถาวร ในระยะแรกของโรคจะมีการสูญเสียลานสายตารอบนอก ผู้ที่เป็นอาจสังเกตเห็นได้ยาก จนเมื่อการดำเนินโรคมาถึงระยะท้าย ผู้ป่วยจึงจะเริ่มสังเกตว่าลานสายตาแคบลงเรื่อย ๆ และตามัวลง จนตาบอดในที่สุด
กว่า 50 % ของผู้ป่วยต้อหิน ไม่ทราบว่าตนเองเป็น เพราะระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจน การวินิจฉัยจึงมักพบโดยบังเอิญจากจักษุแพทย์ ยกเว้น ภาวะต้อหินเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวได้
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาต้อหินให้หายขาดได้ การรักษาจึงเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ โดยการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันลูกตา การยิงเลเซอร์ และการผ่าตัด
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ ควรต้องมาตรวจตาเพื่อคัดกรองต้อหิน ปีละ 1 ครั้ง
- อายุเกิน 40 ปี : ต้อหิน พบได้ 1.9% ในประชากรที่อายุเกิน 40 ปี
- มีญาติเป็นต้อหิน : อาจเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะการมีประวัติญาติสายตรงเป็นต้อหิน
- ภาวะสายตาสั้น/ยาว : ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมาก หรือยาวมากผิดปกติ
- ผู้ป่วยเบาหวาน : ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สอบถามเพิ่มเติมที่ได้ที่ 02-006-8888
สนใจปรึกษาแพทย์สาขาใกล้บ้านคุณ
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ
#ให้สินแพทย์เป็นเพื่อนคุณ
#โรงพยาบาลสินแพทย์ศรีนครินทร์