ความดันโลหิตสูงกับการออกกำลังกาย

4 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และ เบาหวาน โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงได้ ในคนที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้ ในคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic) สามารถช่วยลดความดันโลหิตในค่า Systolic ได้ประมาณ 2-3 mmHG และยังพบว่าถ้าความดันโลหิตลดลงอย่างน้อย 2 mmHG จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้  (Stroke ) ได้ถึงร้อยละ 14 และลดความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 9 การออกกำลังจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการรักษา ควบคุม และ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง



การออกกำลังกายสำคัญกับโรคความดันโลหิตสูงอย่างไร

 

การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงได้ ในคนที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้ ในคนที่มีความดันโลหิตสูง

มีการศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic) สามารถช่วยลดความดันโลหิตในค่า Systolic ได้ประมาณ 2-3 mmHG และยังพบว่าถ้าความดันโลหิตลดลงอย่างน้อย 2 mmHG จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้  (Stroke ) ได้ถึงร้อยละ 14 และลดความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 9 การออกกำลังจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการรักษา ควบคุม และ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

 

หากเป็นความดันโลหิตสูง ควรออกกำลังกายอย่างไร

 

ควรออกกำลังกายแบบที่เรียกว่า แอโรบิค (Aerobic) ได้แก่ การเดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือ เต้นแอโรบิค ซึ่งจะเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ควรเน้นกิจกรรมที่มีการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในการเคลื่อนไหว และ เป็นกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะอาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ควรจะอยู่ในระดับที่เบา ถึงระดับปานกลาง แต่ให้ใช้เวลาในการออกกำลังกายให้นานขึ้น กล่าวคือ ระยะเวลาในแต่ละครั้งของการออกกำลังกายควรอยู่ระหว่าง 30-60 นาที / ครั้ง

 

การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ช่วยลดการเกิดโรคร้ายแรงที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ หรือ โรคติดต่อได้ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ โรคอ้วน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริม ให้สมรรถภาพของร่างกายดีขึ้น ทำให้หัวใจ ปอด และ หลอดเลือดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความหนักของการออกกำลังกาย ในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรปฏิบัติ 2 วิธี ดังนี้

 

  1. ใช้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นตัวกำหนดความหนัก : โดยผู้ที่ออกกำลังกายจะต้องจับชีพจรเพื่อดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก หรือ ขณะที่ไม่ได้ออกกำลังกายเท่ากับกี่ครั้งต่อนาที ภายหลังจากออกกำลังกาย ควรที่จะให้มีอัตราการเต้นของหัวใจ เร็วขึ้นจากขณะพักประมาณ 30-40 ครั้ง / นาที  เพื่อที่จะนำเกณฑ์นี้มาเพิ่ม หรือ ลดความหนักของกิจกรรมในการออกกำลังกายให้เหมาะสม
  2. ใช้การพูดคุยเป็นตัวกำหนดความหนัก : กล่าวคือ ในขณะที่ออกกำลังกายหากสามารถที่จะพูดคุยกับเพื่อนที่ร่วมออกกำลังกายได้ มีการหายใจที่เร็วขึ้น แรงขึ้น และรู้สึกเหนื่อยนิดๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยระหว่างออกกำลังกาย ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ถือว่าการออกกำลังกายอยู่นั้นอยู่ในระดับที่พอดี

 

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ หรือ ถ้าทำให้มากกว่านี้ก็จะให้ผลดีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และต้องการที่จะออกกำลังกายอย่างเป็นกิจลักษณะ ควรที่จะปรึำษาแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย และควรที่จะได้รับคำแนะนำถึงชนิดของการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจากผู้ชำนาญการด้านการออกกำลังกาย

หรือควรวัดสมรรถภาพความฟิตของร่างกายด้วย VO2Max เพื่อประเมินร่างกาย หัวใจ และปอด ก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอันตรายของการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ