
หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อาจเสี่ยง “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”
อาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก จะมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งหนึ่งในภัยเงียบที่เป็นโรคอันตรายและคนส่วนใหญ่มักจะนึกไม่ค่อยถึง คือ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่ความจริงแล้ว ณ ปัจจุบัน โรคนี้ได้รับการยืนยันปริมาณผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อย ๆ สินแพทย์ รามอินทรา เราตั้งใจไว้แล้วว่าเมื่อใครที่เข้ามาเห็นบทความของเรา จะต้องปิดหน้าต่างไปพร้อมความรู้ และกลับมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ในวันนี้จึงจะพามาดูว่าสาเหตุจริง ๆ แล้ว โรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร อาการแบบไหน สัญญาณใดที่ต้องไปพบแพทย์ โรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรง
หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดจากอะไร
อย่างที่บอกว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งเส้นเลือดหัวใจตีบ การเกิดภาวะ Heart Attack บ่อย ๆ คือ สาเหตุอันดับหนึ่ง ที่ทำให้หัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณหัวใจ ซึ่งถ้าหากเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจจะส่งผลถึงชีวิตได้ นับว่าเป็นภาวะที่อันตรายมาก ๆ ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย และใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง
หัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร
หัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน มีอาการสำคัญ ๆ ที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- อาการหอบ เหนื่อย เมื่อนอนราบรู้สึกหายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก
- รู้สึกเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก ในบางรายอาจจะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย
- บวมตามร่างกายโดยเฉพาะขา กดแล้วบุ๋มลงไปทั้ง 2 ข้าง
- เมื่อตรวจ เส้นเลือดดำที่คอจะพบว่ามีเส้นเลือดโป่งพอง
- บริเวณชายปอดทั้งสองฝั่ง จะได้ยินเสียงที่เกิดจากฟองอากาศที่ก่อตัวขึ้นและยุบลงในข้อต่อ หรือให้นึกภาพออกง่าย ๆ จะเป็นเสียง “กรอบแกรบ”
หัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน แบบไหนต้องรีบพบแพทย์
หัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ อย่างกะทันหัน ซึ่งอาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
- เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เหมือนถูกกดทับ บีบรัด และร้าวไปถึงแขนซ้ายกับขากรรไกร
- หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หอบ เหนื่อย แม้ในขณะที่กำลังพักผ่อน
- ไออย่างรุนแรง มีเสมหะปนฟองสีชมพู
- หัวใจเต้นผิดปกติ เต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ
- วิงเวียน หน้ามืด หมดสติ
- เหงื่อออกมาก ตัวเย็น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลหรือเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพราะภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคและภาวะไหนบ้างที่เสี่ยงหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโรคและภาวะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น แล้วพอเวลาผ่านไปหัวใจก็จะอ่อนแอจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนสามารถทำลายหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคนี้จึงมีอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงกว่าคนปกติ รวมไปถึงภาวะหัวใจล้มเหลวด้วย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอาจเสียหายอย่างถาวร หากกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมาก หัวใจจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะนี้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และภาวะหัวใจล้มเหลว
คนที่เสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน
คนที่เสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน ได้แก่
- คนที่สูบบุหรี่
- คนที่เป็นโรคเบาหวาน
- คนที่มีความดันโลหิตสูง
- คนที่มีภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเยอะเกินปกติ
- คนที่มีไขมันในเลือดสูง
- คนที่ทานอาหารรสจัด
- คนที่มีความเครียด และไม่ออกกำลังกาย
- ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงหมดประจำเดือน หรือกินยาคุมกำเนิด
วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน
การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อทำให้หัวใจแข็งแรง และพักผ่อนได้อย่างเต็มที่
- ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจได้ดี
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ไม่กินอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจกำลังทำงานหนักขึ้น นั่นหมายถึงมีโอกาสสูงที่หัวใจจะไม่แข็งแรงในอนาคต
การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจแบบเฉียบพลันและมีสุขภาพที่ดีได้ หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ และอยากเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพหัวใจ สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทราโดยตรง