
ตรวจ MRI รู้ทันเส้นเลือดในสมองตีบ และโรคอื่น ๆ ก่อนรุนแรง
ภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นภาวะที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้หรือเสียการทรงตัว อาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด และอาจถึงขั้นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการรู้จักแนวทางในการป้องกัน หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี วันนี้ สินแพทย์ กาญจนบุรี จะขอพาทุกคนมาเจาะลึกถึงความสำคัญของเครื่องมือ MRI ตรวจความผิดปกติภายในร่างกายที่มีความละเอียดสูงสุด เพื่อช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
MRI คืออะไร สำคัญอย่างไร
MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เครื่องมือที่ใช้เพื่อการตรวจหาความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีหลักการในการทำงาน โดยการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และคลื่นความถี่วิทยุที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อสร้างภาพจำลองเสมือนจริงของอวัยวะต่าง ๆ โดยการตรวจด้วยเครื่องชนิดนี้จะไม่มีการฉายรังสีเอกซเรย์ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และไม่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด และมีความแม่นยำสูงสุดมากยิ่งขึ้น
MRI ใช้ตรวจโรคอะไรได้บ้าง
เครื่อง MRI สามารถใช้เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคหลัก ๆ ได้ดังนี้
ตรวจความผิดปกติของสมอง
ตรวจความผิดปกติของสมอง เครื่องมือ MRI สามารถสร้างภาพจำลองของลักษณะทางกายวิภาคของสมอง และการไหลเวียนเลือดของอวัยวะภายในสมอง ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเส้นเลือดในสมองตีบ การอักเสบ และติดเชื้อบริเวณสมองหรือเยื้อหุ้มสมอง รวมถึงโรคปลอกประสาทเสื่อม เป็นต้น
ตรวจความผิดปกติของกระดูกสันหลัง
ตรวจความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เครื่องมือ MRI จะช่วยตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางกระดูกสันหลัง และไขสันหลังได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และโรคเนื้องอกไขสันหลัง เป็นต้น
ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือด
ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือด เครื่องมือ MRI สามารถจำลองภาพโครงสร้างของหลอดเลือด เพื่อตรวจดูลักษณะความผิดปกติของเส้นเลือด และการไหลเวียนของเลือด ทั้งการอุดตั้น หรือลักษณะการโป่งพอง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตรวจความผิดปกติภายในช่องท้อง
ตรวจความผิดปกติภายในช่องท้อง เครื่องมือ MRI จะช่วยตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บปวด และอักเสบ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับบริเวณม้าม ไต ตับ ท่อน้ำดี ต่อมลูกหมาก มดลูกและรังไข่ เช่น โรคมะเร็ง โรคเนื้องอก เป็นต้น
MRI มีประโยชน์อย่างไร และใครบ้างที่ควรตรวจ
เครื่อง MRI มีประโยชน์ในการสนับสนุนให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเครื่องมือชนิดนี้สามารถสร้างภาพจำลองอวัยวะต่าง ๆ ที่มีความคมชัด และละเอียดสูง ซึ่งจะช่วยแยกความแตกต่างของเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติ และดำเนินการรักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง MRI มีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน อาการอ่อนแรงหรือสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว อาการพูดไม่ชัด อาการชาที่บริเวณมือและขา เป็นต้น
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเส้นเลือดสมอง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคทางหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติบริเวณช่องท้อง เช่น ปวดท้องเรื้อรัง หรือมีความผิดปกติด้านระบบขับถ่าย ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าอวัยวะภายในมีการอักเสบ
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยที่การใช้ยาไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้
- ผู้ที่มีการบาดเจ็บบริเวณข้อกระดูกจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณไหล่ แขน ข้อศอก มือหรือนิ้ว เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องการติดตามผลหลังการรักษา และติดตามผลลัพธ์หลังการผ่าตัด
ตรวจ MRI ต้องระวังอะไรบ้าง
ตรวจ MRI มีข้อควรระมัดระวังดังต่อไปนี้
- เครื่อง MRI จะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ ที่ให้ผู้เข้ารับการตรวจเคลื่อนผ่านเข้าไป หากผู้ป่วยมีอาการกลัวที่แคบควรแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อหาแนวทางในการเข้ารับการตรวจที่เหมาะสม เช่น การให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกคลายกังวลลง
- ผู้ที่มีการฝั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ในร่างกายควรหลีกเลี่ยงการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์กระตุ้นหัวใจ ผู้ที่ผ่าตัดอวัยวะเทียม รวมถึงผู้ที่มีสิ่งแปลงปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น กระสุนปืน เป็นต้น
- ผู้ที่มีการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้ เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และคลื่นความถี่วิทยุ อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- ห้ามสวมใส่เครื่องประดับหรือพกสิ่งของที่เป็นโลหะทุกชนิด สำหรับเข้ารับการตรวจ เช่น สร้อย ต่างหู นาฬิกา เป็นต้น
ดูแลตัวเองหลังเข้ารับการตรวจ MRI
การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการตรวจ MRI ผู้เข้ารับการตัวไม่จำเป็นต้องมีการพักฟื้นร่างกาย โดยสามารถกลับบ้าน และทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ เว้นแต่กรณีที่มีการให้ยานอนหลับสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลัวที่แคบ ควรได้รับการพักฟื้น หรือหลีกเลี่ยงการทำงานในช่วง 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับตรวจ