Work from home อย่างไร…ไม่ให้นิ้วล็อค ?
ในปัจจุบัน…..การทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือซ้ำๆต่อเนื่องเป็นเวลานาน การใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งในช่วงนี้ที่มีการระบาดของ Covid-19 ทำให้มีการสื่อสารหรือการทำงานที่บ้านผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ส่งผลให้นิ้วล็อคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยขึ้น วันนี้เราจึงอยากมาแนะนำวิธีการง่ายๆในการป้องกันการเกิดปัญหานิ้วล็อคค่ะ
นิ้วล็อค (Trigger finger) เป็นอาการที่ข้อนิ้วมืองอแล้วเหยียดไม่ได้ เกิดการติดล็อค ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการอักเสบและหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่โคนนิ้วทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ จากนั้นจะมีอาการปวดมากขึ้นและเริ่มมีอาการสะดุดของข้อนิ้วเวลาเหยียดหรืองอ ต่อมาก็จะมีอาการติดล็อค เมื่องอนิ้วไปแล้วจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ โดยมักเกิดอาการกับมือข้างที่ใช้งานบ่อย แต่ก็อาจเป็นที่มือทั้ง 2 ข้างได้ อาการมักจะเป็นมากตอนช่วงเช้า
วิธีป้องกันการเป็นนิ้วล็อค
- ไม่หิ้วหรือถือของหนักเกินไป ลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
- พักการใช้นิ้วมือเป็นระยะๆ ขณะทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือเป็นเวลานานๆ
- ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือเป็นพักๆ
- เมื่อต้องใช้มือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น การขุดดิน การใช้ค้อน การตีกอล์ฟ ควรใช้ถุงมือหรือผ้านุ่มๆพันรอบๆ เพื่อลดแรงกดกระแทกต่อนิ้วมือ
- การแช่มือในน้ำอุ่นในช่วงเช้าๆ จะทำให้ข้อฝืดลดลง เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
การรักษาอาการนิ้วล็อค
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้ามีอาการไม่มาก แพทย์อาจใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรืออาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ ถ้ามีอาการมาก การรักษาข้างต้นไม่ได้ผลและมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
ถ้าผู้ใดเริ่มมีปัญหานิ้วล็อค สามารถมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ เพื่อการดูแลรักษาอย่างถูกต้องที่โรงพยาบาลสินแพทย์ได้นะคะ