
ท้องผูกเกิดจากอะไร?
ท้องผูก คือภาวะที่เบ่งอุจจาระไม่ออก หรือไม่ได้มีการขับถ่ายติดต่อกันนานหลายวัน ซึ่งหากปล่อยไว้ให้เรื้อรัง จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย รวมไปถึงคุณภาพการใช้ชีวิตได้ โดยอาการท้องผูกเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนใหญ่ จะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย รวมไปถึงรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมมากจนเกินไป อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่น้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก
การใช้ยาบางชนิด
ผู้ที่ต้องบำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาความดันโลหิตบางกลุ่ม ยารักษาอาการทางจิตเวช ยารักษามะเร็งบางชนิด รวมไปถึงยาลดกรด ยาลดการเกร็งของทางเดินอาหาร ยาเคลือบกระเพาะ และยาบำรุงที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ มีโอกาสที่จะเกิดอาการท้องผูกซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาได้
โรคประจำตัวบางโรค
การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรืออยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล และส่งผลต่อการขับถ่ายอุจจาระ
การทำงานของลำไส้ผิดปกติ
หากการทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือมีภาวะลำไส้เฉื่อย ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวได้น้อย จะส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนที่ในลำไส้ได้ช้า จนกลายเป็นปัญหาท้องผูกได้
ท้องผูกมีอาการอย่างไร?
สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าตนเองเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังหรือไม่ ให้สังเกตจากอาการเหล่านี้
- ความถี่ในการถ่ายอุจจาระลดน้อยลง หรือมีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระแข็งก้อนใหญ่ถ่ายไม่ออก หรือออกเป็นเม็ดเล็ก ๆ
- เบ่งอุจจาระไม่ออก หรือใช้เวลาในการเบ่งนาน
- เจ็บขณะถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดปน
- มีอาการท้องอืด ปวดท้อง เกร็งหน้าท้อง
โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องผูก
อาการท้องผูกไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวดขณะขับถ่าย และนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เป็นผลข้างเคียงด้วย
โรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งเป็นผลจากการเบ่งอุจจาระแรง ๆ เป็นเวลานาน สร้างความรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณที่เป็น และอาจมีเลือดออกขณะที่ขับถ่าย
โรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคหัวใจและหลอดเลือด หากท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระรุนแรง และเป็นเวลานาน ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้โรคหัวใจกำเริบ อีกทั้งยังจะส่งผลให้อาการทรุดหนักขึ้นได้
โรคลำไส้อุดตัน
หากขับถ่ายไม่ออก จะทำให้เกิดการสะสมของอุจจาระในลำไส้ จนก่อให้เกิดโรคลำไส้อุดตัน มีอาการปวดท้อง อึดอัด และแน่นท้อง ถ้ารุนแรงจำเป็นต้องผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป
โรคกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
การเบ่งอุจจาระแรง ๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ไม่กระชับ และหย่อนคล้อย และส่งผลให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
โรคไส้เลื่อน
อีกทั้งการใช้แรงเบ่งถ่ายอุจจาระแรง ๆ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง หากปล่อยทิ้งไว้ จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลำไส้ขาดเลือดจนเน่าหรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
วิธีการรักษาและป้องกันอาการท้องผูก
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ถ้าไม่อยากจะเผชิญกับอาการท้องผูก สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ รวมถึงควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences : NAS) และสถาบันแพทยศาสตร์ (The Institute of Medicine : IOM) ได้ให้คำแนะนำในการดื่มน้ำเอาไว้ ดังนี้
- ผู้หญิงควรดื่มวันละประมาณ 2.7 ลิตรต่อวัน
- ผู้ชายควรดื่มวันละประมาณ 3.7 ลิตรต่อวัน
นอกจากนี้ ต้องไม่กลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน หากรู้สึกปวด ควรเข้าห้องน้ำทันที และยังควรหมั่นออกกำลังกาย และขยับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมให้การเคลื่อนที่ของลำไส้เป็นปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดภาวะอุจจาระตกค้างในลำไส้ได้
รักษาโดยการใช้ยาช่วยขับถ่าย
ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว หรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ รวมถึงยากลุ่มที่กระตุ้นให้มีการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่บางตัวเข้าไปในลำไส้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลและแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง
รักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้า อีกทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ทำให้อาการดีขึ้น แพทย์อาจวินิจฉัยและตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม เพื่อรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดลำไส้ในขั้นตอนต่อไป
ปัญหาท้องผูกเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่จะละเลยไปได้ เพราะอาจสร้างผลกระทบต่อร่างกายของเราในระยะยาว ควรมาปรึกษาแพทย์ พื่อทำการวินิฉัยและรักษาให้ถูกจุด เพราะจุดเริ่มต้นเพียงแค่อาการท้องผูกที่อาจดูไม่เป็นอันตราย แต่หากอาการเหล่านั้นเป็นบ่อยขึ้นจนเรื้อรัง อาจส่งผลอันตรายต่อลำไส้และระบบต่างๆภายในร่างกายได้ในอนาคต
รพ.สินแพทย์ เสรีรักษ์ มีแพทย์เฉพาะทางเดินอาหารและตับคอยดูและให้คำแนะนำตลอดการรักษา การวินัจฉัยที่ตรงจุดและละเอียดด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องเป็นซึ่งเป็นเทคนิคในการตรวจระบบทางเดินอาหารและลำไส้ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบความผิดปกติ, วิเคราะห์โรค, และรักษาระหว่างส่องกล้องได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ : https://bit.ly/4cR7I8q
สอบถามเพิ่มเติมหรือทำนัดหมายได้ที่ : 02-761-9888