ขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนเป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty)
เป็นวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจซึ่งได้รับความนิยม เพราะไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะสอดสายสวนหัวใจ (Guiding Catheter) ซึ่งเป็นท่อนำสายสวนและใช้บอลลูนเข้าไป ทางหลอดเลือดแดงที่ขาหรือแขน เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบ แพทย์จะทำการขยายบอลลูนออกไปเบียดคราบไขมันให้แบนราบติดผนังหลอดเลือดเพื่อขยายหลอดเลือดส่วนที่ตีบ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันแพทย์จะใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) เพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจตรงตำแหน่งที่ใช้บอลลูนขยาย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดีมากขึ้น
ขดลวด (Stent) เป็นอุปกรณ์พิเศษ มีลักษณะเป็นโครงตาข่าย ผลิตจากโลหะชนิดพิเศษที่เคลือบยาเพื่อป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจ
ข้อดีของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
1.แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก
2.พักฟื้น 1-2 วัน กลับบ้านได้
ประโยชน์ในการทำหัตถการ
วัตถุประสงค์ของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนคือเพื่อดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบหรือตันได้สะดวกมากขึ้น เมื่อเลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง
หายใจได้เต็มที่ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดการตีบกลับทันที รักษาการฉีกขาดของหลอดเลือด ช่วยลดอัตราการตีบซ้ำและป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้
ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำหัตถการและระหว่างพักฟื้นหลังทำหัตถการ
ความเสี่ยงจากกระบวนการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ได้แก่
- มีเลือดออก ติดเชื้อและปวดบริเวณที่ใส่สายสวน
- เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือเส้นเลือดในสมองตีบ
- หลอดเลือดเกิดตีบขึ้นใหม่
- หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
- แพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในกระบวนการ
- ไตมีปัญหาจากการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
- มีของเหลวคั่งรอบหัวใจ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เสียชีวิต
โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- หายใจติดขัด
- คลื่นไส้
- ปวดหลัง
- แน่นหน้าอก
- จุดที่ใส่สายสวนมีเลือดออก เกิดรอยช้ำขึ้นใหม่ หรือบวม
- มีอาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อ เช่น แผลแดง มีน้ำเหลืองหรือมีไข้
โอกาสสำเร็จจากการทำหัตถการ
แพทย์จะอธิบายถึงอัตราการเสี่ยงและผลดีผลเสีย โอกาสสำเร็จจากการทำหัตถการ กรณีสงสัยควรปรึกษาแพทย์