กลุ่มอาการออทิซึม(Autistic spectrum disorder)

19 ก.ค. 2567 | เขียนโดย รพ.สินแพทย์ เสรีรักษ์

กลุ่มอาการออทิซึม มีอาการแสดงของความบกพร่องของทักษะที่สำคัญ คือ

1.ความบกพร่องของทักษะสังคม ในการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

  • ไม่มองหน้าสบตา หรือสบตาน้อยกว่าปกติ
  • ไม่ชี้บอกความต้องการ
  • ไม่แสดงความสนใจร่วมกับผู้เลี้ยงดู ไม่รู้จักการเลียนแบบ
  • ไม่รู้จักอวดโชว์สิ่งของเวลามีสิ่งของใหม่ๆ หรือสิ่งของที่ตนเองสนใจ
  • ชอบเล่นคนเดียว มีโลกส่วนตัว ชอบแยกตัว

2.ความบกพร่องของพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร ทั้งความเข้าใจและการใช้ภาษา

  • ไม่ส่งเสียงโต้ตอบกับผู้เลี้ยงดู
  • เรียกชื่อไม่หัน
  • ไม่สนใจเมื่อบอกว่าให้ทำอะไร ไม่ทำตามคำสั่ง
  • ไม่ใช้ภาษาท่าทางในการสื่อความหมาย
  • พูดช้า หรือ ไม่พูด การพูดไม่สมวัย พูดซ้ำคำ พูดภาษาของตัวเอง

3.ความผิดปกติทางพฤติกรรม มักจะยังไม่พบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

  • พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น กระโดด หมุนตัว สะบัดมือ โยกตัว ชอบเรียงวัตถุในแนวเส้นตรง สนใจวัตถุที่กำลังหมุน
  • มีความสนใจจำกัดเฉพาะเรื่อง ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ เช่น เลือกกินอาหารเฉพาะบางชนิด สวมเสื้อผ้าเฉพาะบางชุด ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงเด็กจะไม่ชอบ หรือหงุดหงิดกังวล
  • มีการตอบสนองของประสาทสัมผัสต่อสิ่งเร้าที่มากหรือน้อยเกินไป เช่น ดมหรือเลียสิ่งของ ปิดหูเมื่อได้ยินเสียงดัง เดินเขย่งปลายเท้า

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจน โดยพบว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยร่วมกันระหว่างพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

อุบัติการณ์

การศึกษาในต่างประเทศพบความชุกของกลุ่มอาการออทิซึม เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประมาณ 1 ต่อ 60 คน มักตรวจพบในช่วงปฐมวัย โดยเด็กชายพบมากกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า

 การวินิจฉัย

วินิจฉัยโดยกุมารแพทย์พัฒนาการหรือจิตแพทย์เด็ก จากอาการ อาการแสดงทางคลินิก และการสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างละเอียดในห้องตรวจ ร่วมกับแบบสอบถามผู้ดูแล และการติดตามหลังจากการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ

แนวทางการดูแลเด็กออทิสติก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้หายขาดจากโรค การดูแลโดยการฝึกกระตุ้นพัฒนาการและการปรับพฤติกรรม มุ่งเน้นเพื่อการฟื้นฟูความบกพร่องให้หลงเหลือน้อยที่สุด เพื่อดึงเด็กออกจากโลกของตัวเอง ออกมาสู่ครอบครัว เพื่อไปสู่สังคมนอกบ้านและเข้าสู่โรงเรียน โดยสิ่งสำคัญมากคือ ให้การฝึกกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อายุน้อย ฝึกสอนให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน และต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง เพราะสมองเด็กยังมีการพัฒนาได้มาก จึงจะส่งผลดีในระยะยาว

 

หลักการส่งเสริมพัฒนาการเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพราะเด็กเรียนรู้ได้โดยเลียนแบบจากคนใกล้ชิด ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ฝึกผ่านการเล่นที่เด็กสนใจ โปรแกรมพบว่าที่ได้ผลดีมาก คือ DIR floortime (สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.floortimethailand.com / www.mahidolclinic.com) การเตรียมตัวฝึกลูก เริ่มจากการจัดสถานที่ให้สงบ จัดอุปกรณ์ให้เป็นที่ ฝึกในที่เดิมประจำ ร่วมกับจัดตารางเวลาการทำกิจวัตรให้สม่ำเสมอ

ให้เด็กคาดเดาได้และเป็นขั้นตอน โดยอาจมีตารางรูปภาพกิจกรรม ช่วยให้เด็กเข้าใจมากขึ้น

1.การฝึกปรับพฤติกรรม ให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ

2.การฝึกพูดและฝึกทักษะการสื่อสาร (Speech therapy)

การสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูด

ได้แก่ การฝึกให้เด็กมองหน้าสบตา การฝึกชี้เพื่อบอกความต้องการ ฝึกชี้ภาพ การฝึกบอกความต้องการด้วยภาษาท่าทาง

ความเข้าใจภาษาและการพูดสื่อสาร

ได้แก่ การรู้จักชื่อตัวเอง การสอนให้หันตามเสียงเรียก การฝึกให้ฟังและทำตามคำสั่ง และการฝึกพูด

3.การฝึกทักษะทางสังคม ได้แก่ สอนให้รู้จักชื่อตัวเอง คนในครอบครัว คนอื่นๆ, สอนให้มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น, สอนให้รู้จักเล่น, สอนให้รู้จักอารมณ์, ฝึกทักษะการเข้ากลุ่ม, การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน

4.การฝึกกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการฝึกช่วยเหลือตัวเอง

5.การฝึกการช่วยเหลือตัวเองและฝึกกิจวัตรประจำวัน เช่น การใช้ช้อนกินอาหาร การฝึกแต่งตัว การฝึกขับถ่าย การทำความสะอาดร่างกาย หลักการโดยเริ่มจากจับมือทำก่อนแล้วค่อยๆลดการช่วยเหลือมาเป็น ให้เด็กค่อยๆทำเองโดยเราช่วยแนะ จนเด็กสามารถทำได้เอง โดยต้องฝึกซ้ำๆทุกวัน

6.การให้การศึกษาที่เหมาะสม ตามความสามารถและสติปัญญาของเด็กแต่ละราย

7.การใช้ยา ปัจจุบันไม่มียาที่ใช้รักษากลุ่มอาการออทิซึมโดยเฉพาะ จะใช้ยาเพื่อลดอาการหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เมื่อจำเป็น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีสมาธิ

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ