“ โอ๊ย… เจ็บข้อศอกจัง ”
โรคปวดข้อศอก เทนนิสเอลโบว์
โรคปวดข้อศอก เทนนิสเอลโบว์ (Tennis elbow หรือ Lateral epicondylitis)
คือการอักเสบและบาดเจ็บของเส้นเอ็นของแขนบริเวณข้อศอกที่มีชื่อว่า Extensor carpi radialis brevis ( ECRB ) ในบริเวณที่ยึดเกาะกับปุ่มกระดูกด้านข้างของข้อศอก เกิดจากการใช้งานมากกว่าปกติในการกระดกข้อมือ บิดข้อศอกเหยียดข้อศอกแบบซ้ำๆกันของข้อศอกข้างเดียวกัน
อุบัติการณ์
- พบบ่อยในช่วงอายุ 30-50 ปี
- เพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย
- พบในแขนข้างที่ถนัดมากกว่า แต่อาจพบพร้อมกันทั้งสองข้างได้
สาเหตุเกิดจาก
เกิดการใช้งานหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของแขนและข้อศอก โดยเฉพาะการกระดกข้อมือขึ้นลงซ้ำๆกัน บิดงอและเหยียดข้อศอกซ้ำๆกัน และงานที่ต้องออกแรงของข้อมือและข้อศอกมากๆ
อาชีพที่พบได้บ่อย
- แม่บ้าน ที่ต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า หรือทำกับข้าวนานๆ
- ช่างไม้ ช่างประปา ที่ต้องออกแรงใช้ข้อมือในการทำงาน
- แม่ค้าขายเนื้อสัตว์ ที่ต้องหั่น หรือสับเนื้อ
- นักดนตรีบางประเภท เช่น ตีกลอง
- นักกีฬาบางประเภท เช่น นักเทนนิส นักแบดมินตัน
- แต่ในบางคนก็เกิดขึ้น โดยไม่มีทราบสาเหตุมาก่อน
อาการที่พบ
ปวดบริเวณด้านข้างของข้อศอก อาจปวดร้าวลงไปที่แขนหรือร้าวขึ้นไปที่ต้นแขน บางคนอาจรู้สึกล้าหรืออ่อนแรงในการกำมือ อาการมักเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อมือและแขนข้างนั้น เช่น บิดผ้า บิดแฮนด์รถมอเตอร์ไซค์ ไขกุญแจ บิดลูกบิดประตู ตีลูกเทนนิสในท่าแบคแฮนด์ เป็นต้น
การรักษา
การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
- การพักการใช้งาน ( Rest ) กิจกรรม หรือกีฬาที่ต้องใช้งานแขนอย่างหนัก
- การประคบเย็น ( Ice ) บริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- การทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( NSAIDs ) เพื่อลดการอักเสบ และลดอาการปวด อาจเสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- การฝึกยืดกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ( Stretching and Strengthening exercise )
- การทำกายภาพบำบัด ( Physical therapy ) เช่น การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ หรือคลื่นเสียงกระตุ้นกล้ามเนื้อ
- การใช้สนับรัดพยุงข้อศอก ( Elbow support ) เพื่อช่วยลดการขยับตัวของกล้ามเนื้อและลดแรงที่มากระทำต่อเส้นเอ็น
- การฉีดยาสเตียรอยด์ ( Steroid injection ) เพื่อลดการอักเสบและลดอาการปวดในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- นักกีฬาที่ต้องใช้ไม้แร็กเก็ต เช่น เทนนิส แบดมินตัน ควรเลือกใช้ไม้ที่มีขนาดของหัวไม้ และความตึงของเส้นเอ็นที่เหมาะสม
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
- พบว่ามีผู้ป่วย 1-2 % ที่ไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีการแบบไม่ผ่าตัด ถ้าใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดอย่างเต็มที่แล้ว 6-12 เดือนแล้วยังไม่ได้ผล อาจแนะนำด้วยการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยเป็นการตัดแต่งเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ ซึ่งมีสภาพไม่ดีออกไปและซ่อมแซมส่วนที่ดียึดเข้ากับกระดูกด้านข้างข้อศอก