เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมถอยตามวัย และเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพมากมาย ซึ่งอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้โรคภัยไข้เจ็บเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหกล้มในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิต สูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุบนท้องถนน
การหกล้มเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประเภท
- ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงของทางร่างกาย
- การเปลี่ยนแปลงทางด้านสายตา โดยเฉพาะ สายตายาว และ โรคต้อ ทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นไม่ชัด
- ข้อต่อและเอ็นที่อ่อนแอลง ทำให้ส่งผลต่อการทรงตัว
- ระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าผู้สูงอายุมักมีปัญหาปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทำให้ต้องรีบเร่งเข้าห้องน้ำ จนเกิดการหกล้ม
- โรคประจำตัวบางอย่าง สามารถส่งผลต่อการหกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน
- การใช้ยาบางตัว เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต เนื่องจากฤทธิ์ของยา ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หรือวูบได้
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม
- พื้นบ้านที่ลื่น มีสิ่งกีดขวาง ทำให้มองไม่เห็น จนหกล้มได้
- แสงไฟในบ้านที่สว่างไม่เพียงพอ
- บันไดชันหรือแคบ ทำให้เดินได้ไม่สะดวก
- รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถยึดเกาะพื้นได้
หากผู้สูงอายุหกล้มควรได้รับการประเมินและดูแลรักษาจากทีมแพทย์ชำนาญการอย่างทันท่วงที เพื่อลดระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น