ภาวะขาดสารอาหาร
สารอาหารมี 2 ประเภท ได้แก่ สารอาหารหลัก (macronutrients) และสารอาหารที่ต้องการในปริมาณน้อย (micronutrients) สารอาหารหลักได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ส่วนสารอาหารที่ต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่ วิตามินและแร่ธาตุ
สารอาหารหลักเป็นสารที่ให้พลังงาน มีหน้าที่สำคัญต่อโครงสร้างของร่างกายซี่งรวมถึงกระดูกและกล้ามเนื้อ เอนไซม์หรือน้ำย่อย สารภูมิคุ้มกัน การขนส่งสารต่าง ๆ ส่วนสารอาหารที่ต้องการในปริมาณน้อยมีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากกระบวนสร้างและสลายในร่างกายโดยใช้สารอาหารหลัก จำเป็นต้องใช้สารอาหารที่ต้องการในปริมาณน้อยเป็นตัวประกอบร่วมเกี่ยว (cofactor) ร่างกายจึงจะสามารถนำผลผลิตจากกระบวนดังกล่าวไปใช้ได้อย่างดีและเหมาะสม
หากร่างกายได้รับสารอาหารหลักเพียงพอแต่ได้รับสารอาหารที่ต้องการในปริมาณน้อยไม่พอเพียง จะก่อให้เกิดปัญหาหรือโรคได้ เช่น หากมีการบริโภคคาร์โบไฮเดรต (กลุ่มข้าว แป้ง) ปริมาณมาก แต่ได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคเหน็บชาซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงหัวใจวายได้ การได้รับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสายยาว (เช่น กลุ่มโอเมก้า-3 เป็นต้น) ปริมาณมากโดยได้รับวิตามินอีน้อยเกินไป มีผลต่อการเพิ่มภาวะเครียดจากอนุมูลอิสระ (oxidative stress) เป็นต้น
นอกจากนี้ ความไม่สมดุลของสารอาหารที่ร่างกายได้รับ ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น การได้รับปริมาณโปรตีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งอาจส่งผลต่อกระดูกและการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ เป็นต้น
ภาวะโภชนาการเกิน
ปัจจุบัน อุบัติการณ์ของภาวะน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และโรคอ้วน (obesity) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน สาเหตุที่สำคัญส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคือ การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูงมากขึ้น และออกกำลังกายน้อยลง
ภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนไม่เพียงทำให้รูปร่างไม่ดี แต่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (อาจทำให้เป็นเบาหวานในอนาคต) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (มีอาการหยุดหายใจตอนหลับ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองลดลง) ไขมันสูงในเลือด (ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด) การทำงานของปอดและหัวใจผิดปกติ ตับอักเสบจากการที่มีไขมันสะสมที่ตับ ปัญหาปวดข้อ และปัญหาทางจิตใจ ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและผู้ป่วยโรคอ้วนต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและวัยรุ่นที่อ้วนและกำลังเจริญเติบโต ซึ่งควรได้รับการดูแลรักษา เพื่อควบคุมน้ำหนักให้รูปร่างสมส่วน และมีการเจริญเติบโตสมวัย
ดังนั้นการได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอ และเหมาะสมตามวัยตั้งแต่แรกเกิด ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม และการใช้วิถีชีวิตอย่างฉลาดและถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง และคุณภาพชีวิตที่ดี
พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกโภชนาการเพื่อสุขภาพ โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี