ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Carpal ganglion cyst)

19 ธ.ค. 2567 | เขียนโดย นพ.กฤตเมธ สิริพฤกษา

ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ ( Carpal ganglion cyst )

ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เป็นเนื้องอกประเภทหนึ่งชนิดไม่ร้ายแรง มีผนังของก้อนถุงน้ำเป็นเยื่อบุข้อหรือเยื่อหุบข้อที่ติดกับเส้นเอ็น ภายในก้อนถุงน้ำจะมีน้ำไขข้อบรรจุอยู่ ก้อนถุงน้ำส่วนใหญ่จะมีช่องติดต่อกับข้อมือ ก้อนสามารถเห็นได้ชัดเวลางอหรือพับข้อมือจะเป็นก้อนนูนขึ้นมา บางครั้งก้อนอยู่ใกล้เส้นประสาท อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บได้

ตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือ ส่วนใหญ่พบหลังข้อมือ  อาจพบได้บริเวณด้านหน้าของข้อมือ

สาเหตุการเกิด

  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  • ส่วนใหญ่มักพบก้อนเดียวบริเวณหลังข้อมือ
  • พบบ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี
  • พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • เกิดจากการทำงานโดยเฉพาะงานที่ต้องมีการกระดกข้อมือขึ้นลงบ่อยๆเป็นระยะเวลายาวนาน
  • บางรายอาจมีประวัติจากการบาดเจ็บจากการกระแทก

อาการและอาการแสดง

  • ก้อนมีลักษณะนูนกลมค่อนข้างแข็งแต่หยุ่นๆเวลากด เหมือนมีของเหลวข้างใน บางรายก้อนสามารถโยกเคลื่อนที่ไปมาได้ บางรายติดอยู่กับข้อมือโยกไปมาไม่ได้
  • ก้อนมีลักษณะผิวค่อนข้างเรียบ ส่วนใหญ่กดไม่เจ็บ บางรายมีอาการเมื่อย หรือ ปวดมือบ้างเล็กน้อย เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก เนื่องจากก้อนถุงน้ำไปกดเบียดเส้นเอ็น หรือ เยื่อบุข้อ
  • ถ้ากระดกข้อมือขึ้น หรือ งอข้อมือลงจะทำให้ขนาดของก้อนถุงน้ำเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าก้อนทางด้านหลังข้อมือ  เมื่อกระดกข้อมือขึ้นขนาดก้อนจะมีขนาดเล็กลง หรือ คลำไม่ได้ แต่ถ้างอข้อมือลงก้อนจะมีขนาดโตขึ้นและแข็งมากขึ้นได้
  • ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดของก้อน ถ้าปล่อยไว้ก้อนก็มักจะโตขึ้น แต่จะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ อาจใช้เวลานานหลายเดือน หรือ เป็นปี จึงจะเริ่มเห็นว่ามีขนาดโตขึ้น ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เพราะกังวลเรื่องก้อนมีขนาดโตขึ้นกว่าเดิม

การรักษา

การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด

  • ในรายที่ก้อนมีขนาดไม่ใหญ่ ถ้าผู้ป่วยลดกิจกรรมและการทำงานที่มีการกระดกข้อมือขึ้นลง ก้อนอาจจะยุบหายไปเองได้
  • ในรายที่ก้อนมีขนาดใหญ่แต่ผู้ป่วยไม่มีอาการและไม่มีความกังวลเรื่องก้อน ก็อาจปล่อยไว้โดยไม่ต้องผ่าออก เพราะก้อนถุงน้ำนี้ไม่ทำให้เกิดอันตราย และไม่กลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง
  • ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดก็ควรลดการใช้งานของข้อมือ ให้ข้อมือข้างที่ใช้งานอยู่นิ่งๆสักพัก อาการปวดมักจะดีขึ้น ถ้ามีอาการปวดมากอาจจะรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อมือ หรือใส่เฝือกอ่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • การเจาะดูดน้ำในก้อนออกโดยใช้เข็ม ก้อนจะยุบหาย หรืออาจจะยุบหายไม่หมดได้ เพราะของเหลวในก้อนมีลักษณะข้นเหนียว และอาจเกิดก้อนโตขึ้นซ้ำที่เดิมได้ ถ้ามีการใช้งานแบบเดิม ก้อนโอกาสโตขึ้นซ้ำใหม่ พบประมาณ 35-70%

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

  • ใช้วิธีการฉีดยาชาเฉพาะที่ และก็เลาะเอาก้อนออก ถ้ามีหลายก้อนก็จะต้องผ่าตัดออกให้หมด ในกรณีที่ช่องต่อเข้าไปในข้อมีขนาดใหญ่ ก็จะต้องตัดเยื่อหุ้มข้อมือบางส่วนออกไปด้วย และเย็บซ่อมช่องที่เชื่อมต่อเข้าไปในข้อ เพื่อไม่ให้น้ำในข้อไหลออกมาทำให้เกิดก้อนข้อมืออีก มิฉะนั้นอาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก ประมาณ 5-15%

โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน การระมัดระวังในการใช้ข้อมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ควรสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้งานของข้อมือเป็นเวลานาน ๆ

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ