เรารู้จัก…โรคไวรัสตับอักเสบ บี กันดีหรือยัง?

11 June 2020 | Author ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในคนไทย ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในคนไทยประมาณ 8-10% เป็นพาหะ หรือเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี



เรารู้จัก…โรคไวรัสตับอักเสบ บี กันดีหรือยัง?

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในคนไทย ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในคนไทยประมาณ 8-10% เป็นพาหะ หรือเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี

 

ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากสาเหตุอะไร

ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดบี ที่สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเชื้อไวรัสผ่านของเหลวในร่างกาย ซึ่งยกเว้นการแพร่จากน้ำลาย โดยสาเหตุของการติดเชื้อสามารถมีที่มาได้จาก

  • การติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด
  • การสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย เช่น การสัมผัสกับเลือดหรือแผลเปิด การใช้ของมีคมร่วมกัน การใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส 
  • การติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ยังส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็ง ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และอาการตับแข็งได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีสถิติผู้ที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5-7 จากประชากรทั้งหมดในประเทศ ซึ่งสาเหตุของโรคส่วนใหญ่ มักเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี

 

อาการ ไวรัสตับอักเสบบี

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี หลังจากการติดเชื้อ ในกรณีที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะสามารถกำจัดเชื้อได้เอง โดยไม่มีอาการของโรคเกิดขึ้นภายหลัง แต่หากมีอาการ ร่างกายจะทำการกำจัดเชื้อไวรัส พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำขึ้นได้ในระยะ 2-3 อาทิตย์ โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ความรุนแรงของโรคจะพัฒนากลายเป็นภาวะติดเชื้อเรื้องรัง

 

อาการของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วไป อาจมีลักษณะปรากฎดังนี้ 

  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เป็นไข้ และอ่อนเพลีย
  • อาการเบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อาการดีซ่าน ตาเหลืองหรือตัวเหลือง

ในทางกลับกันหากร่างกายอ่อนแอ อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง และนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน อาการตับวาย ตลอดจนการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง การเกิดภาวะตับแข็ง และโรคมะเร็งตับในที่สุด

 

ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร รู้เท่าทันก่อนกลายเป็นโรครุนแรง

ไวรัสตับอักเสบบี คือ ภาวะการติดเชื้อที่บริเวณตับ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดบี ที่มีการกระจายตัวภายในเซลล์ตับ ส่งผลทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะตับอักเสบชนิดเรื้อรังได้ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะติดเชื้อเรื้อรัง ถึงแม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการของโรคหรือที่เรียกกันว่าระยะโรคสงบ แต่ข้อเท็จจริงแล้วความรุนแรงของโรคสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีซ้ำขึ้นได้อีกครั้ง เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าว สามารถคงอยู่ภายในร่างกายของเราได้ตลอดชีวิต และมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะเกิดการแบ่งตัวหรือกระจายตัวเพิ่มมากขึ้นภายในร่างกาย

 

โรคไวรัสตับอักเสบ บี ติดต่อกันทางใดได้บ้าง

  • ทางเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือไม่ได้สวมถุงยางอนามัย กับผู้ที่มีเชื้อโรค
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโรค
  • ใช้เข็มสัก หรือสี หรือเข็มเจาะหูร่วมกัน
  • ใช้แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกัน
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด
  • การสัมผัสสารคัดหลั่ง เลือด น้ำเหลือง ทางแผลเปิดตามร่างกาย

 

** เชื้อนี้ไม่ติดต่อกันทางน้ำลาย แม้จะรับประทานอาหารร่วม ยกเว้นมีแผลในช่องปาก หรือไรฟัน ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้จึงสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ

 

จะรู้ได้อย่างไรว่า เราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือไม่

สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี (HBsAg) เป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่าย และค่าใช้จ่ายไม่สูง หากผลตรวจพบเชื้อไวรัส แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดนับปริมาณเชื้อไวรัสร่วมกับ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน หรือบางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อตับร่วมด้วย

 

โรคไวรัสตับอักเสบบี มีอาการอย่างไร และจะกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้จริงหรือไม่

โรคตับอักเสบชนิดบี แบ่งออกเป็นระยะใหญ่ๆ ดังนี้

  • ระยะตับอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการเพิ่งได้รับเชื้อไวรัส หรือเชื้อไวรัสเดิมที่มีอยู่ในร่างกายมีการต่อสู้กับภูมิคุ้มกัน จนเกิดทำลายเนื้อเยื่อตับ จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) แน่นท้อง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ผลตรวจเลือดจะพบค่าการทำการของตับสูงขึ้น ในระยะนี้บางรายสามารถหายได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดตับวายเฉียบพลันจนเสียชีวิต หรือบางรายก็เข้าสู่ระยะตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะพาหะนำโรคไวรัสตับอักเสบบี ระยะนี้มักไม่มีอาการผิดปกติ ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มักจะพบในช่วงวัยรุ่น จนถึงอายุ 40 ปี ผลตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับก็ปกติ แต่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ระยะตับอักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับสูงขึ้น แสดงถึงว่าตับมีการอักเสบเรื้อรัง และสามารถทำให้ตับแข็งได้ ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องรักษา
  • ระยะตับแข็ง และมะเร็งตับ เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับ เกิดจากการอักเสบของตับเรื้อรัง จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ท้องมาน แขนขาบวม ตัวบวม

 

เมื่อทราบว่าเป็นโรคตับอักเสบชนิดบีแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และวางแผนในการรักษา ปัจจุบันมียาในการรักษาหลากหลายชนิด ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน แพทย์จะมีการประเมินความเหมาะสมของผู้ป่วยในแต่ละราย ผู้ป่วยจำเป็นต้องป้องกันไม่แพร่เชื้อและรับเชื้อใหม่ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีความเสี่ยงของเชื้อรา เช่น ถั่วลิสงคั่วป่นที่เก็บไว้เป็นเวลานาน
  • งดสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการรับยาเองโดยไม่จำเป็น หากต้องการใช้ควรรับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • งดบริจาคเลือด ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หลีกเลี่ยงการสักร่างกาย
  • วางแผนครอบครัวก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูก
  • แนะนำคนใกล้ชิดป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่กังวลจนเกินไป เพราะไวรัสตับอักเสบสามารถรักษาได้ และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ติดตามการรักษา พบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างสม่ำเสมอ ทุก 3-6 เดือน

 

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้โดย

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยทั่วไปจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มสุดท้ายห่างจากเข็มที่แรก 6 เดือน การฉีดครบโดสจะช่วยเพิ่มภูมิุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย แยกของใช้ส่วนตัวให้ชัดเจน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจมีเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อปะปนอยู่
  • ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี หากคุณมีความเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี การตรวจคัดกรองจะช่วยให้คุณทราบสถานะของตัวเองและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี มีวิธีรักษาอยู่ 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่

  • การรักษาแบบใช้ยารับประทาน : การรักษาแบบใช้ยารับประทาน จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และควบคุมได้ดี
  • การรักษาแบบใช้ยาฉีด : ยาฉีด ฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ในภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่า “ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน หรือในชื่ภาษาอังกฤษ pegylated interferon ออกฤทธิ์แบบกระตุ้นภูมิต้านทานให้สามารถสู้กับไวรัสและยับยั้งการแบ่งตัว โดยจะใช้เวลารักษาถึง 48 สัปดาห์

 

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยให้ทราบถึงสภาวะร่างกายของตัวเอง เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการป้องกันและจัดการกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ หากพบว่าป่วยเป็นโรคในระยะเริ่มแรก จะได้ทำการรักษาได้ทัน ไม่ปล่อยให้โรคลุกลาม และเป็นตัวช่วยในการติดตามโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความเป็นไปและผลลัพธ์ในการรักษา ว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นจะได้เปลี่ยนวิธีเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงดังเดิม

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี (FAQ)

 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถส่งต่อเชื้อให้ลูกได้หรือไม่? 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถส่งต่อเชื้อให้ลูกได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด หรือหลังคลอด หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย แต่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อในทารกได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและอิมมูโนโกลบูลิน (Hepatitis B Immune Globulin: HBIG) ให้กับทารกภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

 

ไวรัสตับอักเสบบีมีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไร?

 ไวรัสตับอักเสบบี ในบางรายสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางรายจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือมีไข้ และหากอาการรุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้

 

การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีปลอดภัยหรือไม่? 

สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน และต้องระมัดระวังในการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย แนะนำให้สวมถุงมือป้องกัน และล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัส ในกรณีมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

 

 

พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

 

SHARE
Recommened Programs

แพ็กเกจผ่าตัด และส่องกล้อง
แพ็กเกจส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) TIVA
Price
17,000 ฿
แพ็กเกจผ่าตัด และส่องกล้อง
แพ็กเกจผ่าตัดติ่งเนื้อที่ลำไส้เพื่อการรักษา
Price
11,500 ฿