อาการบ้านหมุน..โรคฮิตของคนทุกช่วงวัย

26 August 2020 | Author พญ.นภัค จินดา (โสต ศอ นาสิกแพทย์ : โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์)

เดินเซ เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ค่อยได้ ตอบคำถามอาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร คืออะไร พร้อมทำความเข้าใจสาเหตุ และศึกษาแนวทางป้องกัน เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันที่ราบรื่น



อาการบ้านหมุน..โรคฮิตของคนทุกช่วงวัย

อาการบ้านหมุนคืออะไร?

อาการบ้านหมุน (Vertigo) คือ อาการที่รู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวกำลังหมุนและโคลงเคลงทั้งที่ตัวเองยืนอยู่กับที่ อาการบ้านหมุน เกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับระบบการทรงตัวของร่างกาย ผู้ที่มีอาการบ้านหมุนมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เสียการทรงตัว เดินเซ ตาลาย หรือตากระตุก มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือค่อยเป็นค่อยไป และอาจเป็นอยู่ชั่วครู่หรือนานหลายวันก็ได้

 

อาการบ้านหมุนเกิดจากอะไร?

อาการบ้านหมุน เกิดจากหลายสาเหตุ โดยหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาที่หูชั้นในและเส้นประสาทหู และปัญหาที่สมอง

1. หูชั้นในและเส้นประสาทหู (Peripheral Vestibular System)

หูชั้นในมีระบบเวสติบูลาร์ (Vestibular system) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว หากเกิดความผิดปกติกับระบบนี้จะส่งผลให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ สาเหตุที่พบบ่อยมักจะมาจากโรคที่ส่งผลต่อหูชั้นในและเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับสมอง เช่น

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo)

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo) หรือ BPPV เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการบ้านหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนห้องหมุนเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น ล้มตัวลงนอน พลิกตัวบนเตียง หรือเงยหน้าขึ้น อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ภายในไม่กี่วินาทีไปจนถึงหนึ่งนาที อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปไม่มีอาการทางหูอื่น ๆ เช่น หูอื้อ หรือการได้ยินลดลง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนรุนแรงเป็นพัก ๆ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น หูอื้อ (Tinnitus), การได้ยินลดลง (Hearing loss) และรู้สึกแน่นในหู อาการบ้านหมุนจากโรคนี้มักเป็นนานหลายชั่วโมง และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเหงื่อออกได้

โรคหูตึงเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss)

โรคหูตึงเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss) คือ ภาวะที่สูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นที่หูข้างเดียว และอาจมาพร้อมกับ อาการบ้านหมุน หรือเวียนหัวได้ และแม้ว่าอาการหลักคือการสูญเสียการได้ยิน แต่การมี อาการบ้านหมุน ร่วมด้วยบ่งชี้ถึงความผิดปกติที่ส่งผลต่อทั้งการได้ยินรวมถึงการทรงตัว ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน

2. สมอง (Central Nervous System)

ในบางกรณีอาการบ้านหมุน เกิดจากปัญหาในสมอง ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับการทรงตัว และสาเหตุมีความอันตรายกว่าบ้านหมุนจากหูชั้นใน เช่น มีปัญหาในการพูด การมองเห็น หรือการเคลื่อนไหว และโรคที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

1. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติ อาการของ Stroke อาจรวมถึง อาการบ้านหมุน อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนแรงหรือชาที่ใบหน้า แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่ง, พูดไม่ชัด, มองเห็นภาพซ้อน หรือปวดศีรษะรุนแรง การมี อาการบ้านหมุน ร่วมกับอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

2. โรคไมเกรน (Vestibular Migraine)

โรคไมเกรน หรือ Vestibular migraine เป็นภาวะที่ทำให้เกิด อาการบ้านหมุน ร่วมกับอาการปวดหัวไมเกรน หรืออาจมี อาการบ้านหมุน เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการปวดหัว อาการบ้านหมุนจาก Vestibular migraine มักเป็นนานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไวต่อแสงและเสียง คลื่นไส้ หรืออาเจียน

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการบ้านหมุนรุนแรงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการบ้านหมุนรุนแรงมากขึ้นมีหลายประการ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว ดังนี้

  • ปัจจัยด้านพฤติกรรม : การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟ่อีน รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียดหรือยาแก้ปวดบางประเภท สามารถทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนเป็นผลข้างเคียงได้
  • ปัจจัยด้านโรคประจำตัว : อาการบ้านหมุน เกิดจากโรคประจำตัวบางโรค ได้แก่ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันสูง โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไต รวมถึงภาวะที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ

 

อาการบ้านหมุนต่างจากเวียนศีรษะธรรมดาอย่างไร?

อาการบ้านหมุนจะรู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวหมุน หรือตัวเองกำลังหมุน ทั้งที่ไม่ได้เคลื่อนไหว อาการมักจะรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก และสูญเสียการทรงตัวร่วมด้วย ส่วนอาการเวียนศีรษะจะรู้สึกมึนงง โคลงเคลง หรือไม่มั่นคง อาจรู้สึกหน้ามืด หรือคล้ายจะเป็นลม และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าอาการบ้านหมุน

 

วิธีรักษาอาการบ้านหมุน

วิธีรักษาอาการบ้านหมุน โดยทั่ว ๆ ไปมีดังนี้

  • รักษาตามอาการ โดยการให้ยา เช่น หากมีอาการเวียนศีรษะ ก็จะจ่ายยาเพื่อลดความเวียนศีรษะ
  • รักษาตามสาเหตุของโรค แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อตรวจเช็กว่าอาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร เมื่อพบแล้วจึงเริ่มทำการรักษา
  • สอนบริหารการทรงตัว เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลระบบประสาท เช่น ฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะ ฝึกการเคลื่อนไหวคอ รวมไปถึงการยืน และการเดิน

 

อาหารและโภชนาการที่ช่วยบรรเทาอาการบ้านหมุน

แม้จะไม่ใช้วิธีรักษาหลัก แต่อาหารและโภชนาการที่เหมาะสม จะช่วยบรรเทาอาการบ้านหมุนได้ ซึ่งมีดังนี้

  • เลือกทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง : แมกนีเซียมมีบทบาทในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ การรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ด อาจช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะได้
  • อาหารที่มีวิตามินบี 6 : ช่วยในการทำงานของระบบประสาท การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 6 เช่น ปลา ไก่ และกล้วย อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และเวียนศีรษะ

นอกจากนี้การกินน้ำเปล่าที่ปริมาณเพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน จะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ ที่อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้

 

วิธีป้องกันอาการบ้านหมุน

วิธีป้องกันอาการบ้านหมุน สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเวียนศีรษะ เช่น ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่ถึง 8 ชั่วโมง การอยู่ใกล้กับสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้แนะนำให้เลี่ยงอาหารเค็มจัด เครื่องดื่มคาเฟอีน ไม่ควรปล่อยให้หูกระทบกระเทือน แม้กระทั่งการอยู่ในพื้นที่ ๆ เสียงดังเกินค่ากำหนด

 

อาการบ้านหมุน ที่ควรพบแพทย์

หากมีอาการบ้านหมุนดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการบ้านหมุนที่รุนแรงมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ หรือมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่มีสาเหตุ
  • อาการบ้านหมุนร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ชา อ่อนแรง พูดลำบาก มองเห็นภาพซ้อน หรือเดินเซ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง
  • อาการปวดศีรษะที่รุนแรงร่วมกับอาการบ้านหมุนอาจเป็นสัญญาณของโรคไมเกรน หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือการได้ยินลดลง อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพในหูชั้นใน

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการบ้านหมุน (FAQ)

อาการบ้านหมุนจากความเครียดเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?

อาการบ้านหมุน เกิดจากความเครียดได้จริง เพราะความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงการทรงตัว เมื่อเครียดมาก ๆ อาจจะทำให้เวียนศีรษะหรือบ้านหมุนได้

ออกกำลังกายช่วยลดอาการบ้านหมุนได้หรือไม่?

การออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการบ้านหมุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาการบ้านหมุนเกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV) หรือโรคประสาททรงตัวอักเสบ (Vestibular Neuritis) แนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ ได้แก่

  • ท่าบริหารศีรษะ
    • ก้มเงย : หลับตา ก้มศีรษะลงช้า ๆ แล้วเงยหน้าขึ้น ทำซ้ำ 20 ครั้ง
    • หันศีรษะ : หันศีรษะไปทางซ้ายและขวาช้า ๆ ทำซ้ำ 20 ครั้ง
    • เอียงศีรษะ : เอียงศีรษะให้หูแตะไหล่ซ้ายและขวา ทำซ้ำ 20 ครั้ง
  • ท่า Brandt-Daroff
    • นั่งบนขอบเตียง ห้อยขาลง
    • นอนตะแคงข้างหนึ่ง ศีรษะเงยขึ้น 45 องศา ค้างไว้ 30 วินาที
    • ลุกขึ้นนั่ง 30 วินาที
    • ทำซ้ำอีกข้างหนึ่ง
  • ท่า Semont Maneuver
    • นั่งบนขอบเตียง หันหน้าไปด้านที่มีอาการ
    • นอนตะแคงอีกข้าง ศีรษะหันขึ้น ค้างไว้ 1 นาที
    • พลิกตัวไปอีกข้าง ศีรษะหันลง ค้างไว้ 1 นาที
    • ลุกขึ้นนั่ง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเกี่ยวข้องกับอาการบ้านหมุนอย่างไร?

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเกี่ยวข้องกับอาการบ้านหมุนโดยตรง เพราะโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของปริมาณหรือแรงดันของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งมีผลต่อการทำงานของอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และเมื่อปริมาณหรือแรงดันของน้ำเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนขึ้นมาได้

.

พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกหู คอ จมูก

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

SHARE