กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส พบน้อย แต่อันตรายถึงชีวิต

10 ม.ค. 2568 | เขียนโดย โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส (Viral myocarditis) คือภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจมีการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีหลากหลายชนิด ที่พบได้บ่อย เช่น เอนเทอโรไวรัส อะดีโนไวรัส ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสสุกใส ไวรัสหัดและหัดเยอรมัน เป็นต้น



การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ภาวะนี้โดยทั่วไปจะพบได้น้อย และในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะพบได้มากกว่าในเด็กโตและผู้ใหญ่

 

อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส

  • มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดตามตัว
  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น ใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หายใจสั้นลง หายใจหอบ
  • ในเด็กเล็กอาจซึมลง เขียว ไม่ทานอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

ถ้ามีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงหัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้

 

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส

นอกจากอาการทางคลินิกที่เข้าได้กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยการวินิจฉัยและการรักษา ดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  • การตรวจเอนไซม์หัวใจ
  • การตรวจหาเชื้อไวรัสสาเหตุ โดยการตรวจสารคัดหลั่งจากการป้ายจมูกและคอ การตรวจอุจจาระหาเชื้อ การตรวจทางภูมิคุ้มกันจากเลือด
  • การเอกซเรย์ปอด
  • การตรวจชิ้นเนื้อกล้ามเนื้อหัวใจทางพยาธิวิทยา

 

การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส

  • การรักษาหลัก คือการรักษาประคับประคองการไหลเวียนโลหิตและการรักษาตามอาการ รอให้การอักเสบลดลงจนกล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ  เช่น การรักษาสมดุลของสารน้ำในร่างกาย การใช้ยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ การให้ออกซิเจน การให้ยาลดไข้ การให้สารอาหารที่เหมาะสม การให้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำเกิน

– การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือด อาจพิจารณาใช้ในผู้ป่วยอาการรุนแรง

– การให้ยาต้านไวรัสจะใช้เฉพาะในกรณีที่เกิดจากไวรัสที่มียารักษาจำเพาะ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่

 

การป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • รักษาสุขอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส หรือมีอาการไข้หวัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
  • และฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุได้ เช่น วัคซีนป้องกันมือเท้าปาก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันสุกใส วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนป้องกันหัดและหัดเยอรมัน

 

ด้วยความห่วงใยจาก… #โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE