โรคไอกรนเกิดจากอะไร ?
โรคไอกรน (Pertussis or Whooping cough) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella Pertussis ของระบบทางเดินหายใจ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองฝอยหรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะในผู้ไม่มีภูมิคุ้มกัน พบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่เองสามารถติดเชื้อนี้ได้ แต่มักจะมีอาการน้อยกว่าหรือไม่แสดงอาการ
อาการของโรคไอกรนเป็นอย่างไร ?
หลังการสัมผัสเชื้อจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6 – 20 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการ โดยอาการของโรคไอกรนแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
อาการระยะเริ่มต้น :
- อาการจะคล้ายกับไข้หวัดคือ มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ ตาแดง
- เป็นระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด
- ระยะนี้จะมีอาการอยู่นาน 1 – 2 สัปดาห์ โดยอาการไอจะมากขึ้นเรื่อย ๆ
อาการระยะรุนแรง :
- มีอาการไอรุนแรงติดต่อกันไม่มีจังหวะพัก 5 – 10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงดังวู้ป (Whoop)
- ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจมีอาการไอรุนแรงจนเขียวและมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในตาขาว ปอดอักเสบ หายใจลำบากหรือหยุดหายใจ อาเจียน มีภาวะขาดน้ำ หรือชัก
- ระยะนี้จะมีอาการอยู่นาน 2 – 4 สัปดาห์
อาการระยะฟื้นตัว :
- อาการไอจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนหยุดไอภายในเวลาประมาณ 6 – 10 สัปดาห์
การวินิจฉัยโรคไอกรนทำอย่างไร ?
นอกจากการซักประวัติอาการ และตรวจร่างกาย แพทย์จะอาศัยการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจาก Nasopharyngeal swab มาเพาะเชื้อ หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ Bordetella pertussis ซึ่งมีโอกาสพบได้สูงในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มมีอาการ
การรักษาโรคไอกรนทำอย่างไร ?
- การให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Macrolide เช่น Erythromycin Azithromycin Clarithromycin จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ถ้าให้เร็วตั้งแต่ในระยะแรก ผลต่อการดำเนินโรคจะลดลงถ้าให้หลังมีอาการเกิน 1 สัปดาห์แล้ว แต่การให้ยาปฏิชีวนะยังมีประโยชน์ในด้านช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- การรักษาประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการไอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำทดแทน
จะป้องกันโรคไอกรนได้อย่างไร ?
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน เป็นการป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุด
- เด็กไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตอน อายุ 2 เดือน / 4 เดือน / 6 เดือน / 18 เดือน และรับการกระตุ้นตอนอายุ 4 – 6 ปี และควรกระตุ้นหลังจากนั้นอีกเป็นระยะ
- หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ระหว่าง 27 – 36 สัปดาห์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน 1 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์
- ผู้ที่สัมผัสโรคไอกรนใกล้ชิดหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรค และควรได้รับการเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- การดูแลสุขอนามัย โดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม การใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย