การเตรียมเต้านมให้พร้อมก่อนคลอดช่วยให้คุณแม่มีความมั่นใจ และประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
วิธีตรวจและการเตรียมเต้านม
1. ดูขนาดของเต้านมและหัวนม
เพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น ก้อนผิดปกติในเต้านม ลักษณะหัวนมสั้น แบน บุ๋ม
2. ทดสอบความยืดหยุ่นของลานหัวนม
โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับฐานหัวนมดึงยืดขึ้น แล้วปล่อยเป็นจังหวะ
- ถ้าดึงแล้วมีความรู้สึกว่า หัวนม และลานนมยืดตามแรงดึงได้ดีแสดงว่ายืดหยุ่นดี
- ถ้าดึงแล้วมีแรงต้านมากแสดงว่าความยืดหยุ่นน้อย
- ถ้าดึงแล้วหัวนมไม่ตั้งขึ้น แต่กลับบุ๋มลงไป เรียกว่าหัวนมบุ๋ม
3. ดูลักษณะหัวนม
- หัวนมสั้น แบน บุ๋ม โดยทั่วไปหัวนมยาวประมาณ 1 ซม. หากสั้นกว่านี้และที่ผิวหนังบริเวณลานหัวนมตึงแข็งจับดึงยืดหยุ่นไม่ได้ เด็กอาจจะดูดนมลำบาก แต่ในกรณีที่โคนหัวนมใหญ่แต่ถ้าลานหัวนมนุ่มยืดหยุ่นดี แม้หัวนมสั้นลูกก็สามารถดูดได้ไม่ยาก
- หัวนมบอด เกิดจากหัวนมที่มีพังผืดยึดไว้ ตรวจได้โดยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือกดปลิ้นหัวนมจับดึงขึ้นมา ถ้าสามารถดึงขึ้นมาได้บ้างจะใช้เวลาแก้ไขไม่นาน แต่ถ้าไม่สามารถจับดึงขึ้นมาได้ต้องรีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ เพราะว่าอาจใช้เวลาเป็นเดือน
- ความยืดหยุ่นของลานหัวนม มีความสำคัญมากกว่าความยาวของหัวนม
4. การแก้ไขปัญหาหัวนม และลานหัวนมตึงโดยใช้อุปกรณ์ช่วย
การใช้อุปกรณ์ช่วยในระยะก่อนคลอด อาจเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว จึงควรระวังในผู้ที่มีประวัติแท้ง หรือ มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ
4.1 ลานหัวนมตึง / หัวนมสั้น
ใช้ปทุมแก้วครอบให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูของฐานปทุมแก้ว หัวนมจะยื่นขึ้นมาขอบรู และส่วนปทุมแก้วที่นาบกับลานหัวนมจะช่วยนวดผิวหนังให้นุ่มในขณะแม่ขยับแขน เวลาเคลื่อนไหว ควรติดตามผล ถ้าลานหัวนมยืดหยุ่นดีแล้ว หยุดการใช้ปทุมแก้ว มิฉะนั้นอาจทำให้ลานหัวนมหย่อนยาน อาจใช้เวลา 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน
4.2 หัวนมบอด
ดึงหัวนมด้วยอุปกรณ์ดึงหัวนม (Nipple puller) ดึงบ่อยๆ ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 10 นาที
5. สร้างความมั่นใจให้คุณแม่ในเรื่องขนาดของเต้านม
ขนาดเล็กหรือใหญ่ แตกต่างกันที่ปริมาณของไขมันในเต้านม แต่มีต่อมน้ำนมเท่ากัน สามารถสร้างน้ำนม
ให้มีปริมาณน้ำนมเพียงพอกับความต้องการของลูกได้เท่ากัน
6. ควรใส่ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะ
และปรับสายให้ตัวเสื้อรับกับน้ำหนักเต้านมได้พอดี ควรใส่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อพยุงเต้านมไว้ มิให้หย่อนยานจากขนาดที่ใหญ่และหนักกว่าเดิม 2-3 เท่า
7. ทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำธรรมดาไม่ใช้สบู่
เพราะจะทำให้แห้งและแตกง่าย
8. ดูแลไม่ให้ลานหัวนมอับชื้นหรือผิวหนังเปื่อยแตกง่าย
ใช้ผ้าซับให้แห้งก่อนใส่เสื้อชั้นในทุกครั้ง ทั้งขณะที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอด
การดูแลหัวนมแตกหรือหัวนมเป็นแผล
1. ให้คุณแม่อุ้มลูกให้ถนัดก่อนให้ลูกดูดนมแม่ เพราะการดูดแต่ละครั้งในระยะที่มีหัวนมแตก คุณแม่จะเจ็บมาก ถ้าคุณแม่อุ้มได้ถนัดและสบาย จะทำให้สร้างความมั่นใจในเบื้องต้น
2. สลับท่าอุ้มให้ลูกดูดนม เช่น ท่าฟุตบอล ท่าอุ้มบนตักเพื่อเวลาลูกดูดจะได้ไม่ดูดตรงรอยแผลเดิม
3. ถ้าลานหัวนมตึงแข็ง ควรบีบน้ำนมออก และนวดลานหัวนมให้นุ่มก่อนเพื่อให้ลูกงับลานหัวนมได้ง่าย
4. ให้ลูกดูดข้างที่ไม่เป็นแผลก่อน
5. ถ้าแม่ทนเจ็บไม่ไหวให้งดดูดไว้ก่อน 1-2 วัน แต่ควรบีบน้ำนมออกทุก 3 ชม. เพื่อป้องกันเต้านมคัด
6. อาจใช้ปทุมแก้วครอบหัวนมเพื่อป้องกันการระคายเคืองจากการสัมผัสเสื้อผ้าในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูดนม ซึ่งสามารถใส่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
7. ถอนหัวนมจากปากลูกอย่างถูกต้อง
8. กรณีที่ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น สั้นตึง จะทำให้แม่เจ็บหัวนมเวลาลูกดูดนม หรือ ดูดนมแม่ไม่ติด ควรปรึกษาศัลยแพทย์เด็ก
#โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
#โรงพยาบาลสินแพทย์
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ
#ให้สินแพทย์เป็นเพื่อนคุณ
ด้วยความห่วงใย จาก…โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2793 5000
หรือคลิกแอดไลน์ โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ https://goo.gl/ysdW8g
IDline: @synphaetline