มีอาการอย่างไร?
เด็กที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แนะนำให้สังเกตอาการ ตามวัยของเด็ก
- เด็กเล็ก ที่ยังบอกเล่าอาการผิดปกติไม่ได้ ส่วนใหญ่จะไข้สูง ไม่มีอาการจำเพาะอื่นๆ หรือหากผู้ดูแลสังเกตดีดี เด็กบางคนจะร้องงอแงเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน มีลักษณะขุ่น บางคนอาจมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรืออาเจียนร่วมด้วย
- เด็กโต จะพบมีอาการคล้ายกับผู้ใหญ่ มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือปัสสาวะไม่สุด บ่นเจ็บเวลาปัสสาวะ ปวดท้องน้อย บางคนมีไข้สูง บ่นปวดบั้นเอวหรือหลัง
เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะในเด็ก”แตกต่าง”จากผู้ใหญ่
- เด็กเล็ก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของโครงสร้างไต และทางเดินปัสสาวะ ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรปรึกษากุมารแพทย์ชำนาญการด้านโรคไตในเด็ก เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม อาจพิจารณาตรวจอัลตราซาวน์ดูระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจพบภาวะปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะสู่ท่อไต (Vesicoureteral reflux; VUR) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งในเด็กเล็ก
- เด็กโต มักเกิดจากพฤติกรรมและการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ช่น กลั้นปัสสาวะ ทำความสะอาดอวัยวะเพศที่ไม่ถูกวิธี
ป้องกันได้อย่างไร?
- เด็กเล็ก ผู้ดูแลควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ทำความสะอาดก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยเช็ดจากด้านหน้าไปหลังในเด็กผู้หญิง ส่วนเด็กผู้ชาย ให้รูดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศลงแล้วเช็ดทำความสะอาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก เนื่องจากอุจจาระที่ตกค้างในทวารหนักจะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะเหลือค้างซึ่งเป็นอาหารที่ดีของแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- เด็กโต ผู้ใหญ่ต้องสอนไม่ให้เด็กกลั้นปัสสาวะ อาจเริ่มฝึกให้ปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา และรับประทานผักผลไม้เพื่อไม่ให้เกิดท้องผูก สอนการทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นเกินไป หากอาบน้ำหรือเล่นน้ำในอ่าง แนะนำไม่ควรแช่น้ำที่มีสบู่นานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ท่อปัสสาวะด้านนอกได้
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากปล่อยให้เกิดการติดเชื้อซ้ำๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ เช่น แผลที่เนื้อไต ความดันโลหิตสูง หรือ ไตวายเรื้อรัง หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรีบทำการรักษา