การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจในเด็ก

3 มี.ค. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจในเด็ก(Flexible Fiberoptic Bronchoscopy)

เป็นการตรวจวินิจฉัยทางเดินหายใจตั้งแต่ โพรงจมูก กล่องเสียง และฝาปิดกล่องเสียง หลอดลมใหญ่ จนถึงหลอดลมแขนง เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติทางกายภาพ ที่ทำให้เกิดหลอดลมอุดตัน หรือภาวะปอดแฟบ รวมถึงสามารถตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นในทางเดินหายใจหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยในการดูดเสมหะออกจากหลอดลมเพื่อส่งหาเชื้อก่อโรค และประเมินตำแหน่งเลือดออกในผู้ป่วยที่ไอเป็นเลือด รวมทั้งสามารถตรวจชิ้นเนื้อเพื่อส่งวิเคราะห์พยาธิสภาพของโรคได้ด้วย

 

 

ข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยในการส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจในเด็ก ได้แก่

  1. ปอดแฟบเรื้อรัง
  2. หายใจมีเสียงดัง (Stridor)
  3. หายใจเสียงวี๊ดเรื้อรัง หรือหาสาเหตุไม่ได้
  4. ปอดอักเสบซ้ำซ้อน
  5. ไอเป็นเลือด
  6. ความผิดปกติทางกายวิภาคของทางเดินหายใจ ตั้งแต่กำเนิดและหรือจากการกดทับเบียด
  7. อาการไอที่หาสาเหตุไม่ได้
  8. สงสัยมีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นในทางเดินหายใจ
  9. ผู้ป่วยที่มีเสมหะมากและไม่สามารถระบายออกได้ด้วยตนเอง
  10. ผู้ป่วยที่มีการเจาะท่อหลอดลมคอ

 

ขั้นตอนการตรวจ

ก่อนส่องกล้องวิสัญญีแพทย์จะให้ยานอนหลับแก้ผู้ป่วยเด็ก จากนั้นกุมารแพทย์โรคทางเดินหายใจจะเลือกขนาดกล้องที่เหมาะสมกับขนาดทางเดินหายใจของผู้ป่วย และสอดผ่านเข้าทางเดินหายใจของผู้ป่วยทางรูจมูก หรือท่อทางเดินหายใจ โดยกล้องส่องจะเป็นท่อยาวขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นภายในประกอบไปด้วยเส้นใยนำแสงที่ต่อกับกล้องวีดีโอ โดยทั่วไปการส่องกล้องจะใช้เวลาทำหัตถการโดยเฉลี่ยไม่เกิน 15 นาทีหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยานอนหลับแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและโรคของผู้ป่วยนั้นๆด้วย

จะเห็นได้ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจในเด็กสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการทำหัตถการยังพบได้น้อยมาก เช่น ไข้ หลอดลมเกร็ง เลือดออกหรือลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบางเดินหายใจ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE