อะดีโนไวรัส (Adenovirus) มักพบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 6 เดือน - 5 ปี สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย พบบ่อย ๆ คือ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และตา
อะดีโนไวรัส สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัส การหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยอะดีโนไวรัสไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ แต่เป็นเชื้อที่มีมานาน มีความคงทนต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกสูง แพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอยู่เป็นระยะ ๆ
อาการของอะดีโนไวรัสในเด็ก
- ระบบทางเดินหายใจ : ไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ เสียงแหบ นอนกรน หายใจหอบ หายใจลำบาก กลืนลำบาก
- ระบบทางเดินอาหาร : ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน
- ทางตา : ตาแดง ตาบวม เจ็บตา มีน้ำตาไหล
การตรวจวินิจฉัยอะดีโนไวรัส
สามารถตรวจหาได้จากสารคัดหลั่งโดยการป้ายจมูกและคอ หรือการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ
การรักษาอะดีโนไวรัสทำอย่างไร ?
ปัจจุบันอะดีโนไวรัสยังไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ดังนี้
- การเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ ให้ยาลดอาการคัดจมูก ดูดเสมหะและน้ำมูก พ่นยาขยายหลอดลม
- การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ
- การให้สารน้ำทดแทนป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่
การป้องกันการติดเชื้ออะดีโนไวรัสทำอย่างไร ?
- ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสะอาดและสบู่
- ปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม
- ใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย
- ทำความสะอาดของใช้ต่างๆภายในบ้าน เช่น ของเล่น โต๊ะ เก้าอี้ สม่ำเสมอ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา โรงพยาบาลเด็กในกรุงเทพฯ พร้อมดูแลรักษาโรคในเด็กอย่างใกล้ชิด โดยกุมารแพทย์เฉพาะทาง