ไข้เลือดออก ความน่ากลัวที่ไม่แพ้ Covid-19
ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเป็นกังวลและคอยเฝ้าระวังไม่ให้สัมผัสหรือติดเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ แต่คนส่วนใหญ่อาจลืมคิดถึงไปว่า มีเชื้อโรคประจำถิ่นอื่นๆที่พร้อมระบาดได้ตามฤดูกาล และก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงขั้นนำมาสู่การสูญเสียชีวิตได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นไวรัสไข้เลือดออกที่มีการแพร่ระบาดทุกปีในประเทศไทยและก่อให้เกิดความสูญเสียไม่แพ้โรคติดต่อชนิดอื่นๆ เราจึงควรรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรค การป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อนี้เกิดขึ้น
ไข้เลือดออก เกิดจากอะไร ?
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียที่หากินเวลากลางวันจะกัดและดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ เชื้อนี้จะเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในกระเพาะยุง จากนั้นจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่น เชื้อก็จะแพร่เข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-8 วัน คนที่ติดเชื้อจึงเริ่มแสดงอาการของโรคไข้เลือดออกมักพบมีการระบาดในประเทศเขตร้อนชื้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากการเพิ่มจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะในช่วงฤดูนี้
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออก มีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่น้อยไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ
- ไข้สูงฉับพลัน 2-7 วัน ส่วนใหญ่จะมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีไข้สูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
- หน้าแดง ตัวแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง แขน ขา เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือดได้
- รายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด จนมีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ซึมลง ช่วงนี้ไข้มักจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรพาไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การรักษาไข้เลือดออก
ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะต่อเชื้อไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาประคับประคอง การให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยเฉพาะในระยะวิกฤตที่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด การรักษาจะได้ผลดีถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยรวดเร็วและดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น
การดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้เลือดออก
- ผู้ป่วยควรดื่มน้ำทดแทนป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ ORS ถ้าอาการอาเจียนก็แนะนำให้ดื่มครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ
- ควรรับประทานอาหารอ่อนประเภทข้าวต้มหรือโจ๊ก งดอาหารที่มีสีดำหรือแดง เพราะถ้าอาเจียนจะแยกไม่ได้ว่าเป็นสีของเลือดหรืออาหารที่รับประทานเข้าไป
- ใช้ผ้าชุบน้ำ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ
- ถ้ามีไข้สูง สามารถรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลตามอาการเวลามีไข้ ห้ามทานยาเกินปริมาณที่แพทย์สั่ง ห้ามใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงานและทำให้เลือดออกได้ง่าย
- หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง กระสับกระส่าย ซึมมาก อาเจียนมากขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่มาก หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนอย่างเร่งด่วน
วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นไข้เลือดออก
- ตรวจดูแหล่งน้ำบริเวณบ้านและใกล้เคียงและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง เช่น แหล่งน้ำขังต่างๆรอบบ้าน กระถาง กระป๋อง ขารองตู้ แจกัน ยางรถยนต์เก่า
- ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด มีอุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด
- เมื่อมีคนในครอบครัวเป็นไข้เลือดออก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เทศบาลหรือเขตเพื่อให้เข้ามาฉีดพ่นยากำจัดยุงก่อนจะมีการระบาดเพิ่มขึ้น และสังเกตอาการสมาชิกในครอบครัว หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก ให้มารพ.เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย พร้อมแจ้งประวัติสมาชิกในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 19-45 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคและเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว