เนื้องอกมดลูก…อันตรายแค่ไหน เมื่อใดต้องผ่าตัด ?!??

3 ต.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยทำงานหรือวัยเจริญพันธุ์ อาจมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง และมักจะฝ่อเล็กลงหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน



เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร ?

 

เนื้องอกมดลูก เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก อาจเกิดภายในเนื้อมดลูก ในโพรงมดลูก หรือผนังด้านนอกของมดลูก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

 

  • อายุ ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุ 30-50 ปี เป็นช่วงวัยที่พบเนื้องอกมดลูกได้บ่อย 
  • เชื้อชาติ ผู้หญิงผิวดำมีโอกาสพบเนื้องอกมดลูกได้บ่อยกว่าเชื้อชาติอื่น 
  • ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย 
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน 

 

อาการของเนื้องอกมดลูกเป็นอย่างไร ?

 

เนื้องอกมดลูกขนาดเล็กอาจยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีจำนวนมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

  • ปวดท้องน้อย ปวดท้องร้าวไปหลังหรือต้นขา
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • มีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน
  • ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก
  • ท้องผูก
  • โลหิตจาง อ่อนเพลีย หน้ามืด
  • มีบุตรยาก แท้งบุตรบ่อย
  • คลำได้ก้อนในท้อง

 

การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำอย่างไร ?

 

  1. การถามประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจหน้าท้อง การตรวจภายใน
  2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาภาวะโลหิตจาง
  3. การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการอัลตราซาวด์
  4. การตรวจทางรังสีวิทยา แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยบางรายเพื่อประเมินและวางแผนการรักษา เช่น 

           – การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

           – การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เพื่อตรวจดูเยื่อบุโพรงมดลูกและรูท่อนำไข่

           – การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ ในผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยาก

 

เนื้องอกมดลูกรักษาอย่างไร ?

 

หากเนื้องอกมีขนาดเล็กและผู้ป่วยไม่มีอาการ สามารถสังเกตอาการและตรวจติดตามอัลตราซาวด์ทุก 6 เดือน – 1 ปี แต่ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการจากก้อนเนื้องอก แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาตามปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัว ความต้องการมีบุตร

 

  1. การรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยาบรรเทาอาการปวด ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานเพื่อช่วยลดอาการประจำเดือนมามาก ยาฉีดกดการทำงานของฮอร์โมนเพศทำให้ก้อนยุบลงและไม่มีประจำเดือนชั่วคราว การรับประทานธาตุเหล็กเสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง
  2. การทำให้ก้อนเนื้องอกฝ่อ โดยการฉีดสารเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก (Uterine artery embolization) การใช้คลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation) ทำให้ก้อนเนื้องอกฝ่อลง สามารถใช้กับเนื้องอกที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก 
  3. การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
  • การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการจะมีบุตรในอนาคต ผู้ป่วยที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังมีโอกาสกลับมาเป็นเนื้องอกมดลูกใหม่ได้
  • การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกและมดลูกออก ใช้ในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ อายุมากและไม่ต้องการมีบุตรแล้ว ทำให้การรักษาหายขาด 

 

การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด 

 

ศูนย์มะเร็งนรีเวชแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา ดูแลโรคทางนรีเวช โดยสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการ

 

#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ