อหิวาตกโรค (Cholera) ติดเชื้อได้ในคนทุกเพศทุกวัย ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยมักพบการระบาดในพื้นที่ที่การจัดการด้านสุขาภิบาลไม่ดี
อหิวาตกโรค (Cholera) เกิดจากอะไร ?
อหิวาตกโรค (Cholera) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ซึ่งเป็นแบคทีเรียกรัมลบรูปแท่ง สายพันธุ์ที่มีความสำคัญและทำให้เกิดการระบาดใหญ่คือสายพันธุ์ O1 และ O139 เชื้อนี้ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เช่น อาหารทะเล อาหารที่ปรุงไม่สุก ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำและอาเจียนรุนแรง
อาการของอหิวาตกโรคเป็นอย่างไร ?
หลังรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เชื้อจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ถึง 5 วัน โดยเชื้อจะสร้างสารพิษ Cholera toxin ไปกระตุ้นเซลล์เยื่อบุลำไส้ให้ขับน้ำและเกลือแร่ออกมาในปริมาณมาก ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ถ่ายเหลวปริมาณมาก ลักษณะของอุจจาระคล้ายน้ำซาวข้าว อาจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย
- คลื่นไส้อาเจียน มักเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของอาการ
- อาการของภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปากแห้ง
- อาการไข้หรือปวดท้องพบได้น้อย
หากมีอาการรุนแรงอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เลือดเป็นกรด น้ำตาลในเลือดต่ำ ซึม ชัก หมดสติ
การตรวจวินิจฉัยอหิวาตกโรคทำอย่างไร ?
นอกจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะทำการเพาะเชื้อจากอุจจาระซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการยืนยันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจใช้การทดสอบทางภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจหาสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาอหิวาตกโรคทำอย่างไร ?
การรักษาหลัก คือ การให้สารน้ำและเกลือแร่เพื่อทดแทนส่วนที่ร่างกายสูญเสียไปอย่างเพียงพอ โดยการให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ป้องกันการติดเชื้ออหิวาตกโรคได้อย่างไร ?
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร รวมทั้งภายหลังการเข้าห้องน้ำ
- ดื่มน้ำที่สะอาด
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ให้โดยการรับประทาน แต่วัคซีนชนิดนี้จะแนะนำให้ใช้สำหรับคนที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของอหิวาตกโรครุนแรงเท่านั้น ไม่ได้ใช้สำหรับคนทั่วไป วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณ 2 ปีเท่านั้นและผู้ที่รับวัคซีนยังมีโอกาสติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง