โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเด็กโตและผู้ใหญ่ พบได้ตลอดทั้งปี แต่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน ติดต่อกันผ่านทางเดินหายใจและการสัมผัส เป็นโรคที่มักมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้
โรคหัด เกิดจากอะไร ?
โรคหัด เกิดจากการติดเชื้อ Measles ซึ่งเป็น RNA ไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus ติดต่อโดยการรับเอาละอองสารคัดหลั่งจากจมูกและปากของผู้ติดเชื้อเข้าไปผ่านทางการหายใจ ไอ จาม หรือสัมผัสโดยตรง
โรคหัดมีอาการอย่างไร ?
หลังผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ไข้สูง ปวดตัว
- น้ำมูก คัดจมูก ไอ จาม
- ตาแดง น้ำตาไหล ไวต่อแสง
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว
- ผื่นแดง จะขึ้นหลังจากมีไข้ 3-5 วัน เริ่มจากบริเวณศีรษะ คอ ใบหน้า แล้วกระจายไปตามลำตัว แขน ขา ผื่นจะอยู่นาน 3-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ แล้วจางหายไป
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
- อาจพบจุดสีขาวในกระพุ้งแก้ม
โรคหัดรักษาอย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับโรคหัด การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคอง ได้แก่
- รักษาตามอาการ เช่นให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้สารน้ำและสารอาหารอย่างเพียงพอ
- เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดมีอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยโรคหัดส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ผู้ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาเคมีบำบัด ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่
- ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ
- หูชั้นกลางอักเสบ
- เยื่อบุตาอักเสบ
- สมองอักเสบ
- ท้องร่วงอาเจียนจนมีภาวะขาดน้ำ
- ภาวะชักจากไข้สูงในเด็กเล็ก
- ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
วิธีป้องกันโรคหัดทำอย่างไร ?
โรคหัดสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นวัคซีนรวมร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูม แนะนำให้ฉีดเข็มแรกในเด็กอายุ 9-12 เดือน และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 2.5 ปี จากนั้นองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน