ท่อน้ำดีเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำดีจากตับไปสู่ถุงน้ำดีและลำไส้เล็ก มะเร็งท่อน้ำดีทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี
ผู้ป่วยจึงมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีส่วนใหญ่มักตรวจพบเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะหลัง ๆ แล้ว ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควรและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ
- ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
- นิ่วของทางเดินน้ำดี
- ท่อน้ำดีผิดรูปร่างแต่กำเนิด
- การได้รับสารก่อมะเร็ง
- การสูบบหรี่
- ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งท่อน้ำดี
อาการของมะเร็งท่อน้ำดี
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวา แน่นท้อง ท้องอืด
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คันตามตัว
- อุจจาระมีสีซีด
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย
การรักษามะเร็งท่อน้ำดี
- การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก หรือการผ่าตัดเพื่อสร้างทางเดินน้ำดีใหม่ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดตันท่อน้ำดี และไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้
- การส่องกล้องทางเดินอาหารตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) แล้วใส่ขดลวดเข้าไปในท่อน้ำดีที่อุดตัน เพื่อแก้ไขภาวะอุดตันทางเดินน้ำดี ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด
- การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีรักษา ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกได้หมด