พาราเซตามอลรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย

29 พ.ค. 2563 | เขียนโดย ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน  เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักจะมีติดไว้ประจำบ้าน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี พาราเซตามอลใช้เป็นยาลดไข้ และสามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม เป็นต้น



ถ้าพูดถึงยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล เชื่อว่าพวกเราทุกคนคงรู้จักและเคยรับประทานกันมาแล้ว หรือบางคนอาจมีความจำเป็นต้องรับประทานอยู่เป็นประจำ… แต่ทราบไหมว่า การรับประทานพาราเซตามอลให้ถูกต้องและปลอดภัย ควรรับประทานอย่างไร

พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน  เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักจะมีติดไว้ประจำบ้าน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี พาราเซตามอลใช้เป็นยาลดไข้ และสามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม เป็นต้น

พาราเซตามอลที่เป็นยาเดี่ยวจะบรรเทาอาการปวดระดับอ่อนถึงปานกลาง ไม่มีผลต่ออาการปวดขั้นรุนแรงและไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

 

ขนาดพาราเซตามอล ที่รับประทาน

  • ขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสม คือ 10–15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง โดยเว้นระยะห่างทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรรับประทานครั้งละ 500 – 750 มิลลิกรัม (หรือพาราเซมอล 500 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด วันละไม่เกิน 6 เม็ด)

ดังนั้น การรับประทานยาพาราเซตามอลจึง

  • ควรให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว
  • ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 5 วัน หากจำเป็นต้องใช้ยานานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
  • นอกจากนี้ยังต้องระวังการใช้ยาซ้ำซ้อน เมื่อใช้ร่วมกับยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสูตรผสมบรรเทาอาการของไข้หวัด เพราะอาจได้รับพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

การรับประทานยาพาราเซตามอล มากเกินไป (overdose)

การได้รับยามากเกินไปไม่ได้ช่วยให้ได้ผลการรักษามากขึ้น สำหรับยาพาราเซตามอล

  • หากได้รับเกินขนาด (150 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายในครั้งเดียว หรือ รับประทานต่อเนื่องเกิน 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ของน้ำหนักตัว ภายใน 1-2 วัน หรือ เกิน 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายใน 3วัน) จะส่งผลให้เกิดพิษต่อตับ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน ถ้าตรวจเลือดอาจพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ ถ้าตับถูกทำลายมากขึ้น อาจพบอาการของตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

.

   ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล

  • ไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอล หากรับประทานแล้วมีอาการแพ้ควรหยุดยาทันทีและรีบมาพบแพทย์
  • ผู้ป่วยโรคตับไม่ควรใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านวัณโรค ยากันชัก ร่วมกับการรับประทานยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้น…ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานๆ มีอาการไข้/อาการปวดที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือ ไม่ดีขึ้น หลังจากรับประทานพาราเซตามอล แนะนำให้มาพบแพทย์  เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้อง  เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานนอกจากเสี่ยงที่จะได้รับผลเสียจากการรับประทานยาเกินขนาดแล้ว ยังอาจทำให้ตัวโรคแย่ลงได้….หากรักษาไม่ถูกวิธี

SHARE