ฝ้า …ปัญหาคาใจ

23 ก.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.ปาริชาติ เชาว์ปฏิภาณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนังและศัลยกรรมเลเซอร์ ศูนย์ผิวหนัง ศัลยกรรมเลเซอร์ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ในบรรดาเรื่องสุขภาพสุดฮิตที่ผู้หญิงให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่องผิวพรรณบนใบหน้ายกตัวอย่างเช่น ปัญหาฝ้า ซึ่งขึ้นชื่อว่ารักษายาก เรามาทำความรู้จักกับฝ้าให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจทำการรักษา



ในบรรดาเรื่องสุขภาพสุดฮิตที่ผู้หญิงให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่องผิวพรรณบนใบหน้ายกตัวอย่างเช่น ปัญหาฝ้า ซึ่งขึ้นชื่อว่ารักษายาก เรามาทำความรู้จักกับฝ้าให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจทำการรักษา

 

ฝ้า

ฝ้าพบบ่อยในผู้หญิงวัยกลางคน ลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาล พบบริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก เหนือริมฝีปากบนและคาง มักเริ่มจากจุดสีน้ำตาลแล้วขยายเป็นปื้น เราสามารถแบ่งชนิดของฝ้าได้เป็น 3 ชนิด

1). ฝ้าชนิดตื้น

ลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลเข้ม ขอบเขตชัด เกิดจากเม็ดสีเมลานินสะสมในชั้นหนังกำพร้ามากผิดปกติ ฝ้าชนิดนี้ค่อนข้างตอบสนองดีต่อการรักษา เนื่องจากเม็ดสีเมลานินอยู่ไม่ลึกในผิวหนังจึงง่ายต่อการกำจัด

2.) ฝ้าชนิดลึก

ผื่นฝ้าจะเป็นสีน้ำตาลผสมสีเทาเข้ม ขอบเขตไม่ชัด เกิดจากเม็ดสีเมลานินอยู่ในชั้นหนังแท้ มีผลทำให้การรักษาค่อนข้างยาก

3.) ฝ้าชนิดผสม

มีเม็ดสีเมลานินสะสมมากทั้งในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้

 

สาเหตุของการเกิดฝ้า

มีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี ได้แก่

  • แสงแดด เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด รังสีUVA และUVB เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้า และทำให้เป็นฝ้ามากขึ้นได้
  • ฮอร์โมน ฝ้าอาจเป็นมากขึ้นในสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือสตรีที่ตั้งครรภ์ และฝ้ามักจางลงภายหลังหยุดยาคุมกำเนิด หรือหลังคลอด
  • ยาบางชนิด เช่นยากันชัก อาจทำให้ฝ้ามีสีคล้ำขึ้น
  • การแพ้เครื่องสำอางค์ อาจทำให้เกิดรอยดำแบบฝ้าได้ โดยเฉพาะการแพ้น้ำหอมหรือสีที่ผสมในเครื่องสำอางค์นั้นๆ
  • พันธุกรรม เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดฝ้า เนื่องจากมีรายงานการเกิดฝ้าในครอบครัวถึงร้อยละ 20-70

 

การรักษาฝ้า

เน้นหลักสำคัญ 2 ประการคือ หลีกเลี่ยงหรือป้องกันปัจจัยที่กระตุ้นให้ฝ้าเป็นมากขึ้น ร่วมกับ การพยายามรักษาให้ฝ้านั้นจางลง

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องฝ้าควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด หรือยาอื่นๆ ที่อาจทำให้รอยคล้ำนั้นเป็นมากขึ้น การหลีกเลี่ยงแสงแดดก็เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

การเลือกครีมกันแดด ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพดี ป้องกันได้ทั้ง UVA  และ UVB สำหรับค่า SPF(Sun Protection Factor) ควรมีค่าประมาณ 30 หรือสูงกว่า

 

การรักษาให้ฝ้าจางลง

ส่วนการรักษาให้ฝ้าจางลงนั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปดังนี้

  • การทายา ยาทารักษาฝ้านั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
  • กลุ่มที่เร่งกำจัดเซลล์หนังกำพร้า ทำให้เม็ดสีเมลานินถูกกำจัดออกไปได้เร็วขึ้น เช่น กรดวิตามินเอ, ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้(AHA)
  • กลุ่มที่ลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน เช่น ยาไฮโดรควิโนน(Hydroquinone), กรดโคจิค(Kojic acid), วิตามินซี

การรักษาต้องใช้เวลา 4-8 สัปดาห์จึงเห็นการเปลี่ยนแปลง และมักได้ผลในกรณีที่เป็นฝ้าชนิดตื้น ข้อควรระวังคืออาจทำให้ผิวระคายเคืองง่าย

  • วิธีกรอผิวชนิด Microdermabrasion ช่วยเร่งการขจัดเซลล์หนังกำพร้าให้หลุดลอกเร็วขึ้น ได้ผลสำหรับฝ้าที่อยู่ในชั้นตื่นๆ ข้อควรระวังคือ อาจทำให้ผิวระคายเคืองง่าย
    นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีของเลเซอร์ และเครื่องให้กำเนิดแสงความเข้มสูงมาใช้ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน
  • เครื่องให้กำเนิดแสงความเข้มสูง (Intense Pulsed Light หรือIPL) มีผลให้เม็ดสีเมลานินดูดซับแสง ถูกทำลายและมีจำนวนลดลง ทำให้ฝ้านั้นจางลงหรือหายไป ข้อจำกัดของ IPL คือมักได้ผลในกรณีที่เป็นฝ้าชนิดตื้นเท่านั้น
  • เลเซอร์ Medlite C6 แสงเลเซอร์จะทำลายเฉพาะเม็ดสี และมีผลต่อผิวบริเวณข้างเคียงน้อย ทำให้เกิดการแตกสลายของเม็ดสี ทำให้ฝ้านั้นจางลงหรือหายไป ข้อดีคือ ใช้รักษาได้ทั้งเม็ดสีที่อยู่ในชั้นตื้นและลึก เช่น ฝ้า, กระ, กระลึก, ปานดำ และรอยสัก

สำหรับการรักษาฝ้าใช้เวลาในการรักษาทุก 2-4 สัปดาห์ ประมาณ 5-10 ครั้ง เนื่องจากการรักษาแต่ละชนิด มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ การตัดสินใจเลือกวิธีรักษาควรปรึกษาแพทย์ รวมทั้งป้องกันปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดฝ้า การรักษาจึงจะได้ผลดี

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ผิวหนังศัลยกรรมเลเซอร์ โรงพยาบาลสินแพทย์

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

SHARE