หัวไหล่ เป็นส่วนของข้อที่มีการเคลื่อนไหว และใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆมากมายในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย ทำความสะอาดร่างกาย ทำงาน หรือเล่นกีฬา ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวไหล่ จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นไป
ปวดไหล่ เป็นปัญหาที่พบได้มากและบ่อย โดยอาจจะปวดเป็นครั้งคราว หรือปวดเรื้อรังตลอดเวลาก็ได้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของข้อหัวไหล่เอง หรือความผิดปกติจากอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่หัวไหล่ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วัณโรคปอด หรือ กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น
ภาวะข้อไหล่ติดแข็ง (Frozen shoulder)
ภาวะนี้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย คนที่ใช้งานหัวไหล่อย่างหนัก คนที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณหัวไหล่
อาการเริ่มจากเจ็บข้อไหล่อยู่เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรืออาจนานเป็นเดือน และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวแขนและหัวไหล่ จากนั้นอาการปวดจะเริ่มลดลง สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับ ข้อไหล่ได้ดีขึ้น จนทำให้เข้าใจว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่หากสังเกตให้ดีพบว่าหลังจากอาการปวดดีขึ้น การเคลื่อนไหวของแขนและหัวไหล่จะทำได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม
ภาวะข้อไหล่ติดแข็ง จะพบอาการปวดไหล่สัมพันธ์กับการมีผลึกหินปูนหรือแคลเซียมสะสมภายในเอ็นบริเวณต่างๆ ซึ่งอาการปวดอาจเป็นแบบเฉียบพลันและรุนแรงมาก จนทำให้ยกไหล่ไม่ขึ้นหรือบางรายอาจปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกหินปูนภายในเส้นเอ็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นเอ็นหัวไหล่ที่เรียกว่า Supraspinatus บ่อยที่สุด
การรักษาโรคข้อไหล่ติดแข็ง
การรักษาในช่วงแรกที่มีอาการปวด และหัวไหล่ยังไม่ติดมาก จะใช้วิธีให้รับประทานยาต้านการอักเสบ และยาแก้ปวดร่วมกับการบริหารข้อหัวไหล่ อาจได้ผลค่อนข้างดี แต่ถ้าเป็นมานานและพบว่าหัวไหล่เคลื่อนไหวได้น้อยลงมาก อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องอยู่ส่วนปลายเข้าไปบริเวณข้อไหล่แล้วใช้เครื่องมือขนาดเล็ก กรอผลึกหินปูนออกจากเส้นเอ็น ผู้ป่วยจะมีรอยแผลเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยลดระยะเวลาของการอยู่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษา และลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานลงไปได้มาก ช่วยให้กลับมาใช้งานข้อไหล่ได้เร็วขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น